ภายในงานสัมมนาในหัวข้อ “ยุคปฏิวัติข้อมูล ใครได้ใครเสีย (Winners and Losers in the Data Revolution Era) ที่จัดขึ้นโดย สัมมนาเศรษฐกิจประจำปีสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ซึ่งประเด็นที่เป็นดาวเด่นในงานนอกจากการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2019 แล้วก็คงเป็นเรื่องหัวข้อ สรรพากรใน ยุคข้อมูลใหม่ ประชาชนจะได้อะไร “Revenue Departments Data Revolution : Implications for Citizens” โดย ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ที่กำลังนำเทคโนโลยี Digital Transformation มาใช้กับ Big data
ใช้ Big data และ AI ปฏิวัติการจัดเก็บภาษี
Big Data จะเข้ามาช่วย 3 เรื่องหลักของสรรพากร คือ การเก็บภาษีตรงเป้าหมาย การเก็บภาษีตรงกลุ่ม สร้างบริการได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากหลายครั้งประชาชนมักตั้งคำถามเสมอว่าทำไมถึงได้ภาษีคืนช้า รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องยังทำได้ไม่ 100% โดยเฉพาะเรื่องของข้อมูล
“การปรับรูปแบบไป Digital Transformation ของกรมสรรพากร จะช่วยทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นธรรมและทั่วถึงมากขึ้น เพราะรายได้หลักของประเทศที่นำไปพัฒนาต่อมาจากสรรพากร การที่หลายครั้งเก็บภาษีได้ไม่ตามเป้า เก็บได้ไม่ตรงกลุ่ม รวมถึงปัญหาคนไม่นำส่งภาษี เราค้นพบว่าไม่ใช่เพราะเขาอยากโกงหรอก เพียงแค่กระบวนการที่ยุ่งยาก และ Big Data กับ AI จะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้”
สรรพากรเก็บข้อมูลมาจากไหนบ้าง?
สรรพากรจะมีการเก็บข้อมูลจากที่ให้ไว้ใน ภงด. ซึ่งจะมีรายรับ/รายจ่าย และเอกสารการจ่ายภาษีต่างๆ ส่วนข้อมูลคนที่มีรายได้น้อยที่ปกติสรรพากรจะไม่มีเลยนั้น จะมาจากข้อมูลของประชาชนที่ใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในส่วนอื่นๆ อีก ประกอบด้วยดังต่อไปนี้ ข้อมูลประชาชน (กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย) ข้อมูลจดทะเบียนการค้า (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์) ข้อมูลการจ่ายเงิน (เครดิต เช็ก คิวอาร์โค้ด) ข้อมูลการขอเงินคืน (ใช้ระบบพร้อมท์เพย์ และเตรียมนำ Blockchain มาใช้ในอนาคต) ข้อมูลหนี้ ข้อมูลล้มละลาย งบการเงินนิติบุคคล ข้อมูลกองทุน ดอกเบี้ย ออมทรัพย์/กู้ยืม ข้อมูลพันธบัตร ข้อมูลหักภาษี ณ ที่จ่าย ข้อมูลทุนจดทะเบียน ข้อมูลใน Social Media ฯลฯ
สรรพากร กำลังศึกษาอยู่ว่า จะนำระบบ Blockchain มา Develop ด้านใดได้บ้าง อาจมีการนำมาใช้เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน หากทุกอย่างที่เป็นเอกสารทำเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เราจะสามารถเอาข้อมูลมาทำ Analytics ได้เยอะ เช่น การออกบิลโดยไม่ชอบ การขอใบอนุโมทนาบุญตามวัด
สรรพากรใช้ Big Data อย่างไรกับประชาชนเรื่องภาษีบ้าง?
ข้อมูลที่สรรพากรตอนนี้มีข้อมูลเหมือนทองคำในภูเขา โดยภูเขาคือ ข้อมูลดิบ (Big data) แต่สิ่งที่ต้องการคือ ข้อมูลที่วิเคราะห์แล้ว (Information) หากจะทำให้ได้ทองคำจำเป็นต้องมีเครื่องมือมาระเบิดภูเขา และเครื่องมือที่จะมาระเบิดได้ก็คือ การออกแบบอัลกอริทึ่ม (Algorithm) เพื่อจัดแบ่งข้อมูลของประชาชน เรียงลำดับและจัดกลุ่ม เพื่อหาความสัมพันธ์ (Associate Rules) จากนั้นจึงจำแนก (Classification) ออกมา เช่น เมื่อพิมพ์ชื่อ นาย ก. ลงไป ข้อมูลทุกอย่างทั้งเส้นทางการใช้จ่ายรับเงิน หรือจ่ายให้ใคร รับจากใคร ช่องทางไหน เมื่อไหร่ ก็จะออกมาทั้งหมด ทำให้ตรวจสอบได้ว่า หากบริษัท A ยื่น แล้วนาย ก. ไม่ยื่น หรือเสียภาษีไม่ครบก็จะทราบทันที
นอกจากนี้ จะมีการเขียนระบบออกแบบอัลกอริทึ่ม (Algorithm) โดยให้ AI วิเคราะห์ออกมาว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายรับเงิน รวมถึงพฤติกรรมบน Social Media แบบนี้ จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ รวมทั้งประเมินได้ทันทีว่า พื้นที่แห่งนี้จากการประมวลผลของ Machine Leaning จะบอกได้ว่า ควรเก็บภาษีในพื้นนี้ได้เท่าไร ทำไมถึงเก็บได้ไม่ตามเป้า ใครที่ไม่จ่ายภาษี
“พนักงานสรรพากรมีแค่ 2 หมื่นกว่าคน เมื่อก่อนการตรวจสอบเอกสารทั้งหมดทำโดยมนุษย์ ทำให้ 1 ปี ทำได้ไม่เกิน 10 เคสแต่ต่อไปนี้ AI จะทำได้ทั้งหมด”