ปกติแล้วตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองทันที 5 ประการ ดังนี้
1.) ได้รับข้อมูลที่เป็นจริง สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภครวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
2.) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภคและปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
3.) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
4.) ได้สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
5.) ได้สิทธิร้องเรียน สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว
ต่อให้ในกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรสิทธิ 5 ประการก็ยังไม่เปลี่ยนเนื่องจากผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูที่รัฐธรรมนูญ 2560 พบว่า มีการเขียนใหม่ให้การจัดตั้งองค์กรเป็นสิทธิที่จะตั้งหรือไม่ตั้งก็ได้ ขณะที่ฉบับเดิมนั้นกฎหมายบังคับให้มีการจัดตั้ง เพื่อให้ผู้บริโภคเป็นอิสระจากรัฐ นอกจากนี้ฉบับใหม่ยังมีการย้ายการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจาก “สิทธิ” ไปเป็นหน้าที่ของรัฐและตัดสิทธิร้องเรียนเมื่อได้รับความเสียหายออก
มาตรา 46 สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง (Link เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2460 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย)
บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
แม้ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง และมีสิทธิในการรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ยังต้องทำโดยรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักเกณฑ์ วิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค แต่ถ้ากลับไปดูที่ มาตรา 61 ของฉบับ 60 จะพบว่า “มาตรา 61 รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค”
หมายความว่า การคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ถือเป็นการลดทอนสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยมีเพียงการรับรองเรื่องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริโภครวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตน ขณะที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ระบุไว้ใน มาตรา 61 ว่า สิทธิของผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครอง ในด้านการรับรู้ข่าวสารที่เป็นจริง มีสิทธิในการร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการเยียวยาจากความเสียหาย และสามารถรวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภค
หากสังเกตจะพบว่าวิธีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั้น ตัดสิทธิบางส่วนที่เคยมีใน ฉบับปี 2550 ออกไป ทำให้ขัดต่อสิทธิผู้บริโภค 5 ประการ โดยเฉพาะนิยามของผู้บริโภคที่ระบุว่า เป็นการซื้อเพื่อส่วนตัวไม่รวมการซื้อเพื่อการค้า (แม้เราจะได้รับผลกระทบฐานะผู้บริโภคก็ตาม) เรื่องนี้ส่งผลให้ผู้บริโภคเสียเปรียบสิทธิพึงมีจากสิทธิผู้บริโภค 5 ประการ ทำให้ไม่สามารถร้องเรียนกับ สคบ. ตามกฎหมายหรือใช้สิทธิศาลผู้บริโภคได้ ต้องใช้กฎหมายแพ่งแทน