ก่อนหน้านี้ Bee Voice นำเสนอเรื่องราวจากกรณี “เครื่องเล่นสวนสนุกพังถล่ม” แน่นอนว่าย่อมส่งผลก่อให้การสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมแง่มุมต่าง ๆที่น่าสนใจจากกรณีดังกล่าว
แต่ถึงกระนั้นปัญหาของเด็ก ๆก็ยังไม่จบลงเพียงแค่นั้น โดยเฉพาะใครที่มีบุตรหลานวัยเรียนย่อมมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น ส่วนจะเป็นเรื่องอะไร ประเด็นอะไรไปฟังบทสัมภาษณ์จากเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์” ที่ออกมาให้ข่าวในประเด็นที่น่าสนใจ
“สคบ.จะร่วมมือกับหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหมด ออกตรวจการขายสินค้าบริเวณหน้าโรงเรียนต่าง ๆเพื่อดูว่ายังมีคนลักลอบนำสินค้าอันตรายที่สคบ.ห้ามขายนำมาขายให้เด็กนักเรียนหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องปรามและช่วยดูแลผู้บริโภคที่เป็นเด็กเล็กให้ได้รับความปลอดภัยจากสินค้าและบริการอีกด้วย”
ในรายงานข่าวยังระบุต่อว่า สคบ.ยอมรับว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ได้ออกคำสั่งห้ามขายสินค้าอันตรายประเภทดังกล่าวไปนานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังพบว่ามีการลักลอบขายอยู่ในบางพื้นที่ ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคทั้งสิ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคที่เป็นเด็ก เนื่องจากเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็นและไม่มีความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสินค้า
ผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ค้ามักจะอาศัยความอยากรู้อยากเห็นและความไม่รู้ของเด็ก นำสินค้าอันตรายที่คคบ.มีคำสั่งห้ามขายรวมถึงสินค้าประเภทอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายมาจำหน่ายตามหน้าโรงเรียน นอกจากนี้ยังพบการจำหน่ายตามร้านขายของชำ ตลาดนัด และแหล่งชุมชนอีกเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ที่ผ่านมาสคบ.ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายในแหล่งต่าง ๆ พบว่า มีการจำหน่ายสินค้าประเภทของเล่นและขนมบรรจุซองต่าง ๆ ซึ่งเมื่อตรวจสอบพบสินค้าบางรายการไม่มีการจัดทำฉลากหรือมีการแสดงฉลาก แต่การแสดงฉลากไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ข้อความมีขนาดเล็กไม่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน มีการแสดงฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ
สีของเล่นฉูดฉาดและมีการใช้วัตถุอันตรายเป็นส่วนประกอบในของเล่น เมื่อเด็กนักเรียนซื้อสินค้าดังกล่าวไปเล่นโดยไม่ทันคิดหรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายขึ้นได้ อย่างไรก็ตามหากทุกฝ่ายช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังและให้แนะนำแก่น้อง ๆ นักเรียนไม่ซื้อสินค้าหรือของเล่นอันตรายมาเล่น ผลกระทบจากความเป็นอันตรายของสินค้าเหล่านั้น รวมถึงอุบัติเหตุจากการเล่นคงลดน้อยถอยลง
ถึงบรรทัดนี้หลายคนคงอยากรู้กันแล้วล่ะสิว่า ตกลงสินค้าอันตรายตามที่สคบ.ได้ประกาศเอาไว้มีอะไรกันบ้าง ซึ่ง Bee Voice ได้ไปทำการสืบค้นข้อมูลพบว่ามีด้วยกัน 10 รายการ โดยมีบางรายการที่อยู่ในส่วนของเล่นเด็กด้วย ซึ่งประกอบด้วย
1.“ตัวดูดน้ำ” ของเล่นชนิดนี้จะเป็นอันตรายมากสำหรับเด็ก เพราะตัวดูดน้ำนี้สามารถพองตัวได้ในน้ำย่อยเทียมซึ่งมีสภาพเดียวกับน้ำย่อยในกระเพาะลำไส้มนุษย์และสามารถพองตัวได้ถึง 5 เท่า ภายในระยะเวลาการย่อยตามสภาพในกระเพาะ และยังมีลักษณะเหนียว ไม่แยกหรือแต่ร่วน ไม่มีการย่อยตัวหากกลืนเข้าไปจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อระบบย่อยการขับถ่ายแ ละทำให้ลำไส้อุดตันได้
2.“ลูกโป่งวิทยาศาสตร์” สินค้าชนิดนี้จะมีสารเอทิลอาซีเทตซึ่งเป็นสารระเหยตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และจัดเป็นสารเสพติดตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย หากมีการสูดดมสารชนิดนี้เข้าไปจะทำให้เกิดอันตรายต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายและอาจทำให้เสียชีวิตได้
3.“ปืนฉีดน้ำหรือเครื่องเล่นฉีดน้ำที่มีลักษณะเป็นกระบอกสูบและใช้แรงอัดกระแทกน้ำในกระบอกสูบโดยตรง” อันตรายของสินค้าชนิดนี้อยู่ที่ความแรงของน้ำเมื่อกระทบส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายจะทำให้รู้สึกเจ็บ และหากกระทบดวงตาอาจเกิดอันตรายรุนแรงจนถึงขั้นตาบอดได้
- “ลวดดัดฟันแฟชั่น” เป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่สคบ.สั่งห้ามขายเพราะจากการตรวจสอบพบว่า สินค้าดังกล่าวมีสารปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว พลวง ซีลีเนียม โครเมียม และสารหนู อีกทั้ง วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน การนำมาคล้องที่ฟันด้วยลวดที่ไม่แข็งแรงมีโอกาสที่วัสดุต่าง ๆ จะหลุด ลงคอ และทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้
5.“เครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำหรือท่อส่งน้ำ” ซึ่งเป็นเครื่องที่มีกรรมวิธีในการผลิตที่ไม่ถูกต้องมีการใช้สารตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อ ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารตะกั่วในน้ำดื่มในเครื่องทำน้ำเย็น และจากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบการปนเปื้อนของสารตะกั่วในน้ำดื่มเกินมาตรฐานความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน
6.“ภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อ” ภาชนะประเภทนี้ถ้านำมาใช้งานในอุณหภูมิที่สูงจะมีตะกั่วละลายออกมาปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อนามัยของผู้บริโภคอาหาร
7.“อุปกรณ์ไฟฟ้าช็อตสำหรับแกล้งคน” ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าช็อตสำหรับแกล้งคนออกมาขายในรูปแบบต่าง ๆ เช่นหมากฝรั่ง รีโมท รถยนต์ ปากกา สวิตช์เปิด-ปิดไฟฟ้า ซึ่งภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทดสอบสินค้าดังกล่าวแล้วพบว่ามีค่าแรงดันไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 500-1,000 โวลต์ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าไหลผ่านอวัยวะของร่างกายได้อย่างต่อเนื่อง และคงที่ตลอดระยะเวลาที่กดหรือดึงอุปกรณ์
ซึ่งอาจทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่วตามผิวหนังสูงเกินกว่า 0.02 แอมแปร์มีผลทำให้หมดสติ หรือถ้าหากกระแสไฟฟ้าสูงเกินกว่า 0.2 แอมแปร์ จะทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นเส้นทางการเดินของกระแสเกิดเป็นรอยแผลไหม้ได้ จึงอาจเป็นอันตรายต่อเด็กเล็กหรือผู้ป่วยโรคหัวใจ
8.“สารที่ใช้วิธีไบโอเทคนิค” เนื่องจากสารชนิดนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ และมีประชาชนจำนวนมากได้รับความเสียหายจากการใช้สารดังกล่าว ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นมาก เป็นความเสียหายอย่างถาวร โดยสารที่ใช้ในวิธีไบโอเทคนิค ที่ผลิตใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายให้คนไข้เป็นการผลิตวัสดุขึ้นเอง และเป็นวิธีที่ไม่ผ่านกระบวนการวิจัยอย่างถูกขั้น ตอนตามหลักวิชาการทางการแพทย์ และยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
9.“เครื่องเล่นล่องแก่ง ชื่ออินเดียน่า ล็อก” นั้นเป็นเครื่องเล่นที่ให้บริการในสวนสนุกแห่งหนึ่งที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเครื่องเล่นชนิดนี้เป็นสินค้าที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงต้องมีการสั่งห้ามขายเพื่อป้องกันอันตรายและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าดังกล่าว
10.“เครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแบบขั้วเปลือย” สินค้าชนิดนี้ทางสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีแห่งประเทศไทยได้ทำการทดสอบแล้วพบว่า เครื่องต้มน้ำไฟฟ้าที่ทำให้น้ำร้อนโดยผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในน้ำโดยตรงนั้นเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ ถ้าผู้ใช้ถือจับวัตถุสื่อไฟฟ้าสัมผัสกับน้ำที่ดื่ม เช่นตักหรือคนหรือเทน้ำจากภาชนะโลหะลงไปในถ้วยหรือน้ำที่กำลังต้ม โดยเสียบปลั๊กเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าไว้ กระแสไฟฟ้าจะวิ่งเข้าสู่ร่างกายได้ แม้จะมีฉลากสินค้ากำกับวิธีการใช้ไว้แล้วก็ตาม
รู้กันอย่างนี้แล้วคงจะต้องช่วยกันสอดส่อง ดูแลบุตรหลานของเราให้รู้เท่าทันภัยสินค้าอันตรายดังกล่าวจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่เห็นแก่ได้โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็ก คิดแต่จะกอบโกยหารายได้จากเด็ก ทั้ง ๆที่สคบ.ได้กำหนดบทโทษไว้ค่อยข้างจะสูง นั่นคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีเป็นผู้ผลิตหรือนำเข้าสินค้าดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และหากพบเห็นว่ามีการลักลอบจำหน่ายสินค้าห้ามขายตามประกาศของคคบ.ดังที่ได้กล่าวในข้างต้น สามารถแจ้งเบาะแสเข้าไปยังสคบ. หรือโทรฯสายด่วน 1166