ตุ๊กๆ บุกกองปราบ เตรียมฟ้องกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ฯ ผู้จัดการธนาคารออมสิน ฐานฉ้อโกง
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยคุณสารี อ่องสมหวัง นำทีมโชเฟอร์คนขับรถสามล้อเอื้ออาทรกว่า 100 รายที่เข้าร่วมโครงการกับกรมการขนส่งทางบก โดยมีสหกรณ์ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกับแหล่งเงินคือธนาคารออมสินและแหล่งผลิต เข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) กับ ร.ต.อ.ธงชัย โตเจริญ รองสว.(สอบสวน) กก.1 บก.ป.ว่าถูกกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์จักรเพชร ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาเยาวราช และสาขาสยามพารากอนปล่อยสินเชื่อไม่เป็นธรรม ทำให้เป็นหนี้สินเกินราคาสินค้า และมีผู้เสียหายไม่น้อยกว่า 115 ราย เป็นหนี้ระหว่าง 685,000 – 880,000 บาท
ก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับร้องเรียนจากโชเฟอร์ 3 ล้อที่เข้าร่วมโครงการกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งตรวจสอบพบว่า สถานการณ์ตอนนี้เป็นหนี้ซ้อนทั้งสหกรณ์และออมสิน ซึ่งราคา 3 ล้อของโครงการสามล้อเอื้ออาทรแพงกว่าที่ควรจะเป็นคันละ 1 แสนบาท ทั้งที่คุณสมบัติต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังเปิดเผยรายละเอียดผ่านเว็บไซต์เพิ่มเติมอีกว่า ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มคนขับสามล้อเท่านั้น แต่ยังมีเจ้าของรถเมล์ร่วมบริการ สาย 1 สาย 17 และสาย 75 อีกด้วย จากการทำสัญญากับบริษัท สหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด และธนาคารออมสิน นอกจากนี้ยังมีเจ้าของรถเมล์ร่วมบริการ สาย 39 ที่ได้รับคำแนะนำจากบริษัทที่ขายรถเมล์และสัมปทานรถร่วมบริการ ให้ไปกู้ยืมเงินกับธนาคารออมสิน สาขาเยาวราช แต่กลับถูกให้ไปทำสัญญากู้ยืมเงินที่สหกรณ์ฯ ดังกล่าวแทนนั้น
สำหรับความผิดของสหกรณ์ฯ กรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ฯ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเยาวราชและสาขาสยามพารากอน ตามการรายงานพบว่าเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และมาตรา 343 และความผิดฐานลวงขายให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 รวมทั้งความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ว่าด้วยประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544
ขนส่งทางบกแจงไม่เกี่ยวโครงการสามล้อเอื้ออาทร
อย่างไรก็ตามย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 ข้อมูลเว็บไซต์จากกรมการขนส่งทางบก พบว่า วันที่ 22 มิถุนายน 2559 กรมการขนส่งได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ที่มีเนื้อข่าวระบุว่า
กรมการขนส่งทางบก เดินหน้า!!! โครงการสามล้อเอื้ออาทร รับจดทะเบียนรถยนต์สามล้อรับจ้าง (รถตุ๊กตุ๊ก) ในเขตกรุงเทพมหานคร เพิ่มอีกจำนวนไม่เกิน 814 คัน ยื่นคำขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิจดทะเบียน ด้วยตนเอง ณ กรมการขนส่งทางบก ตั้งแต่วันนี้ – 28 สิงหาคม 2558 นี้
นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกเตรียมความพร้อมเปิดรับจดทะเบียนรถยนต์สามล้อรับจ้าง ตามโครงการสามล้อเอื้ออาทร เพิ่มอีกจำนวนไม่เกิน 814 คัน ซึ่งเป็นจำนวนที่คงค้างมาจากการเปิดรับจดทะเบียนรถยนต์สามล้อรับจ้าง เมื่อปี 2549 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ขับรถยนต์สามล้อรับจ้าง ประกอบอาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและจัดระเบียบรถยนต์สาธารณะให้เป็นไปด้วยความ เรียบร้อย ทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ โดยได้เปิดให้ยื่นคำขอลงทะเบียน เพื่อขอใช้สิทธิ
ซึ่งข้อมูลเพิ่มเติมจากเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสรายข่าวข่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบก ได้ออกมาชี้แจงว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการสามล้อเอื้ออาทร ในการรจัดหารถ ตามที่ผู้เข้าร่วมโครงการร้องเรียนว่าถูกธนาคารฟ้องร้องว่าเป็นหนี้สูงกว่าจำนวนเงินจริงที่กู้ซื้อรถ ในการดำเนินการขั้นตอนดังกล่าว เป็นการจัดทำสัญญาระหว่างผู้ขอรับสิทธิ์กับสถาบันการเงิน กรมการขนส่งทางบกไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำนิติกรรมสัญญาดังกล่าว
*อนึ่งในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และกลุ่มผู้เสียหายจะเดินทางไปที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เพื่อให้ชะลอคดีของผู้เสียหายแต่ละรายไว้