รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ประกาศใช้ในปัจจุบันดูเหมือนจะมีการปรับคุณสมบัติและที่มาของนายกรัฐมนตรีพอสมควร ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์แม้จะยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นที่แน่นอน แต่ก็ดูเหมือนหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าต่อให้มีการเลื่อนวัน สุดท้ายก็จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปี 2562 จนได้
คำถามที่ตามมาก็คือ ประชาชน นั้นรู้กติกาและที่มาของนายกรัฐมนตรี รวมถึงคุณสมบัติหรือไม่ เนื่องจากกติกาที่ปรับใหม่ผนวกกับข้อกำหนดต่างๆ ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ค่อนข้างแตกต่างจากเดิมเป็นอย่างมาก
ประการแรก นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) (จำเป็นต้องเป็น 3 รายชื่อแรกที่พรรคการเมืองเสนอเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนมีการเลือกตั้ง) ฉบับก่อนหน้าระบุชัดเจนว่าต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น
ประการที่สอง ต้องมีเสียงสนับสนุน 376 เสียงในสภาขึ้นไป ฉบับก่อนต้องได้ 251 เสียงในสภาขึ้นไป
ประการที่สาม ผู้มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมตรี ตามมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลในสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง สามารถรวมโหวตนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คนได้ ฉบับก่อนจะเพียง ส.ส. เท่านั้นที่มีสิทธิ์โหวต
ประการที่สี่ การเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสภา แม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อนี้ แต่จากการเงื่อนไขทั้งหมดนี้ทำให้เสียงกึ่งนึ่งจาก 251 เสียงในสภาขึ้นไป กลายเป็น 376 เสียงในสภาขึ้นไป หรือเกินครึ่งของ 750 เสียง (ส.ส. 500 คน และ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน)
ประการที่ห้า ที่มาของ ส.ว. 244 คน มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ส่วน 6 คนที่เหลือได้มาจาก ผบ.เหล่าทัพ ประกอบด้วยผู้บัญชาการกองทัพบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และปลัดกระทรวงกลาโหม
น่าห่วง! ผลสำรวจชี้ประชาชนยังไม่เข้าใจระบบเลือกตั้งแบบใหม่
รายงานผลสำรวจความคิดเห็นคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี พ.ศ.2562 ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14 – 30 ตุลาคม 2561 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 4,263 คน สำหรับแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาทางสังคม และส่วนที่ 3 ความสนใจและการตื่นตัวทางการเมือง ที่จัดขึ้นโดย 1like1vote หนึ่งในโครงการของ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด ร่วมกับเฟสบุ๊คแฟนเพจ ชวนหาเรื่อง , Beevoice , JobBKK , Admission Premium และ Eduzones พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้ง (อายุระหว่าง 18 – 25 ปี) นั้น มีความรู้ความใจระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญใหม่ระดับปานกลางเท่านั้น ส่วนกลุ่มคนที่เคยมีประสบการณ์เลือกตั้งมาแล้ว (อายุ 25 ปีขึ้นไป) ก็มีความรู้ความเข้าใจอยู่ในระดับเดียวกัน
ความเข้าใจระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญใหม่
อันดับ | อายุ 25 ปีขึ้นไป | อายุ 18- 25 ปี |
1 | รู้ปานกลาง | รู้ปานกลาง |
2 | รู้เล็กน้อย | รู้เล็กน้อย |
3 | ไม่รู้เลย | ไม่รู้เลย |
4 | รู้มาก | รู้มาก |
5 | รู้มากที่สุด | รู้มากที่สุด |
ที่น่าเป็นห่วงก็คือ แม้ประชาชนจะตอบผลสำรวจว่า มีความรู้ความเข้าใจในระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามรัฐธรรมนูญใหม่ระดับปานกลางก็ตาม แต่รายงานดังกล่าวกลับพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจอาจยังไม่เข้าใจระบบเลือกตั้งดีพอ เพราะผลสำรวจที่ถามกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในปี 2562 ว่า ทราบถึงความความสำคัญของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้ง (อายุระหว่าง 18 – 25 ปี) และกลุ่มคนที่เคยมีประสบการณ์เลือกตั้งมาแล้ว (อายุ 25 ปีขึ้นไป) กลับตอบว่า ความสำคัญของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการปกครองประชาธิปไตย ส่วนคำตอบว่า เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีทางอ้อม นั้นอยู่อันดับที่ 4
ความสำคัญของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
อันดับ | อายุ 25 ปีขึ้นไป | อายุ 18- 25 ปี |
1 | เป็นส่วนหนึ่งของระบอบการปกครองประชาธิปไตย | เป็นส่วนหนึ่งของระบอบการปกครองประชาธิปไตย |
2 | ไว้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล | ไว้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล |
3 | ไปเป็นตัวแทนในการออกกฎหมาย | ไปเป็นตัวแทนในการออกกฎหมาย |
4 | เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีทางอ้อม | เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีทางอ้อม |
5 | ไว้คอยช่วยเหลือเวลามีปัญหาที่เกี่ยวกับตนเอง | ไว้คอยช่วยเหลือเวลามีปัญหาที่เกี่ยวกับตนเอง |