Bee Voice ยังคงเกาะติดเรื่องราวของผู้บริโภคนำมาฝากกัน โดยเฉพาะกับเรื่องใกล้ตัวที่จะพูดถึงสำหรับตอนนี้กับข้อมูลดี ๆจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เชื่อว่าสาระของเรื่องจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง
แต่ก่อนจะไปว่ากันในรายละเอียดถามกันตรง ๆเลยว่า เคยได้ยินประโยคเหล่านี้กันบ้างหรือเปล่า กับประโยคทำเงินจากผู้ขายสินค้าที่ทำให้ใครหลายคนหลวมตัวเข้าไปติดกับดักไปเป็นที่เรียบร้อย
“โทรมาตอนนี้ 50 สายแรก คุณจะได้ส่วนลดทันทีจาก 3,000 บาทเหลือ 1,500 บาท และยังมีของแถมอีกเป็นจำนวนมาก”
ประโยคดังกล่าวน่าจะคุ้นหูใครต่อใครหลายคน โดยเฉพาะยามเมื่อคุณได้เปิดหน้าจอทีวีเพื่อจะดูหนังดูละคร หรืออาจจะเป็นรายการที่คุณชื่นชอบ คุณจะได้รับข่าวสารในเรื่องของการโฆษณาสินค้าอยู่เป็นประจำที่มาแทรกหรือคั่นเวลา
แน่นอนว่าคำโฆษณาดังกล่าว หากคุณเป็นคนประเภทจิตใจไม่เข้มแข็งพอจะเกิดอาการหวั่นไหว คล้อยตามจนท้ายที่สุดต้องโทรสั่งซื้อสินค้าในทันที ส่วนสินค้าที่ซื้อจะใช้หรือไม่ใช้ว่ากันอีกรอบหลังจากซื้อมาแล้ว ขณะเดียวกันบางครั้งซื้อสินค้ามาแล้วแต่กลับพบว่าสินค้าหลายตัวที่ผู้บริโภคซื้อมามักเจอปัญหาไม่เป็นไปตามที่โฆษณา เช่นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องทำความสะอาด เครื่องครัวเช่นกระทะ ชุดชั้นในกระชับสัดส่วน
ควักตังค์ซื้อสินค้าไปแล้วแต่ต้องพบว่าสินค้าที่ซื้อไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณาแต่ประการใด ชุดชั้นในที่อวดอ้างสรรพคุณนักหนาว่ากระชับสัดส่วนแต่ไม่ได้กระชับจริง ใส่แล้วม้วนเป็นก้อนกองอยู่ตรงจุดใดจุดหนึ่ง หรือไม่พอดีกับสัดส่วนของร่างกาย
ขณะที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณว่าทานแล้วจะทำให้ผิวขาวขึ้นแต่เมื่อผู้บริโภคซื้อไปรับประทานกลับพบว่าขาวจริงในช่วงที่กินผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่เมื่อหยุดทานกลับไปดำเหมือนเดิม แถมบางทีก็อาจได้ของแถมตามมาอีกนั่นคือได้โรคไตตามมาจากสารกลูต้าไธโอนในผลิตภัณฑ์นั้น ครีมบำรุงผิวทาแล้วขาวภายใน 5 นาทีแต่พบเมื่อซื้อทาแล้วผิวแตกลาย
สิ่งต่าง ๆเหล่านี้ถือเป็นการโฆษณาเกินจริง ซึ่งโดยแท้จริงตามสิทธิผู้บริโภคข้อแรกเลยที่มีการกล่าวไว้คือ “สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภครวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม”
แต่กลับพบว่าการโฆษณาที่ผ่านมาไม่ได้เป็นอย่างที่สิทธิที่ผู้บริโภคควรจะได้รับ หากแต่เกิดเหตุการณ์ที่พบว่ามีโฆษณาสินค้าเกินจริง หรือกรณีซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แล้วเจอปัญหาผู้บริโภคอย่าได้นิ่งนอนใจ หรืออย่าใช้คำว่า “ช่างมันเถอะเงินไม่เยอะมาก” นั่นหมายถึงคุณกำลังเปิดช่องทางให้มีผู้ประกอบการโฆษณาเกินจริงทำผิดต่อผู้บริโภคไปเรื่อย ๆ
รู้กันอย่างนี้แล้วก็ต้องไปดูเคล็ดลับดี ๆที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นำเสนอไว้หากคุณต้องเจอกับเหตุการณ์เช่นที่ว่านี้ อย่างน้อย ๆจะได้เตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที ส่วนจะมีวิธีอย่างไรบ้างไปดูกันเลยกับ 5 เคล็ดลับดี ๆในการซื้อของ
ประการแรกเลย ตั้งสติอย่าหลงเชื่อในคำโฆษณาชวนเชื่อที่ได้เห็นได้ยินมา ให้ค้นหาข้อมูล ตามแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หรือการรีวิวของผู้บริโภครายอื่นที่ซื้อสินค้าแล้วใช้ได้ดีหรือไม่
ประการที่สอง เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ระบุเจ้าของผลิตภัณฑ์ชัดเจน เช่นผลิตโดยบริษัทฯ หรือจำหน่ายโดยบริษัทฯที่จดทะเบียนถูกต้อง เพื่อป้องกันการถูกหลอกให้ซื้อสินค้าปลอม
ประการที่สาม เก็บหลักฐานการสั่งซื้อ ควรเก็บหลักฐานการสั่งซื้อไว้กรณีซื้อผ่านออนไลน์ (ให้บันทึกหน้าจอใบสั่งซื้อไว้) หรือหากสั่งซื้อทางโทรศัพท์ให้เก็บหลักฐานใบโอนเงินและใบเสร็จไว้ทุกครั้ง
ประการที่สี่ การตรวจสอบสินค้า เมื่อได้รับสินค้าแล้วพบว่าสินค้าชำรุดหรือไม่ตรงตามที่ได้สั่งซื้อไว้ ให้ติดต่อทางร้านทันทีหากทางร้านบ่ายเบี่ยงให้แจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจใกล้บ้านไว้เป็นหลักฐาน
ประการสุดท้าย ร้องเรียนเมื่อได้รับอันตรายจากการใช้สินค้า กรณีที่ใช้สินค้าแล้วได้รับอันตรายเช่นกรณีใช้ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงหรืออาหารเสริม ให้ถ่ายรูปบริเวณที่เสียหายแล้วร้องเรียนที่ “ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02-2483737 และขอให้จำไว้ว่า “ร้องทุกข์หนึ่งครั้งดีกว่าบ่นพันครั้ง”
หวังว่าเมื่อคุณได้อ่านรายละเอียดครบถ้วนดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คงทำให้หลายคนได้ตื่น และตระหนักคิดอย่างรอบคอบ ยามเมื่อต้องเผชิญกับการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณในผลิตภัณฑ์ที่แสนจะเวอร์ จะได้ไม่ตกเป็น “เหยื่อ”จากสินค้าจอมปลอม