ทุกวันนี้โลกออนไลน์กลายเป็นแหล่งช้อปปิ้งที่สำคัญมากในชีวิตของเรา โดยเฉพาะเหล่าแพลตฟอร์มมากมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายในการสั้งซื้อ จัดส่ง และการชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์เกิดใหม่อย่าง JD Central, Shoppee หรือเว็บไซต์เก่าแต่อย่าง eBay และ Amazon ก็ยังต้องมีความระมัดระวังในการสั่งซื้อ และนับประสาอะไรกับร้านค้าที่ตั้งขึ้นมาในเพจของโซเชียลมีเดีย เราจึงได้เห็นกรณีตัวอย่างมากมายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นของที่ส่งมาไม่ตรงกับรูป ของส่งไม่ครบ ของส่งช้า ของส่งเสียหาย ของส่งขาด ของส่งเกิน ของส่งผิด ฯลฯ
ซึ่งหากร้านไหนที่มีจรรยาบรรณก็อาจได้รับการเยียวยาและรับผิดชอบ ตามระยะเวลาที่เหมาะสม แต่หากร้านใดที่ไม่มีจรรยาบรรณในฐานะผู้บริโภคเราจะสามารถเอาผิดได้อย่างไรกันล่ะ?
ความจริงแล้วประเทศไทยมีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคอยู่ชื่อว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 โดยการจำแนกประเภทคดีผู้บริโภคออกเป็น 21 ประเภท ผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีเองหรือจะมอบหมายให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสมาคมหรือมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคฟ้องและดำเนินคดีแทนก็ได้ ฟ้องด้วยวาจาได้ ผู้บริโภคได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องคดี ผ่อนคลายเรื่องหลักฐานเป็นหนังสือ อายุความยาวกว่าคดีแพ่งทั่วไป ไม่เคร่งครัดกระบวนการพิจารณา ภาระการพิสูจน์เป็นของผู้ประกอบการศาลพิพากษาเกินคำขอได้ เป็นต้น (อ้างอิงจาก สกล หาญสุทธิวารินทร์. (2017). แนวคำวินิจฉัย เป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่. กรุงเทพธุรกิจ. Retrieved Nov 09, 2018, from http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641308)
กรณีที่ผู้บริโภคต้องการยื่นฟ้องเอง
ผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องด้วยวาจาด้วยตนเองก็ได้ไม่จำเป็นต้องมีทนาย ซึ่งจะมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ทำบันทึกรายละเอียดของคำฟ้อง จากนั้นให้ผู้บริโภคในฐานะโจทย์ลงลายมือชื่อรับรอง ซึ่งโจทย์จะมีการยื่นหลักฐานพยานแนบมาพร้อมคำฟ้องด้วย เช่น หนังสือรับรองบริษัท เอกสารเกี่ยวกับสัญญา ใบเสร็จ ภาพแคปเจอร์จากแชทสนทนา ภาพรูปถ่ายสินค้า ภาพคำสัญญาหรือเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คดีประเภทไหนเป็นคดีผู้บริโภค ศาลถึงจะรับพิจารณา
ประการแรก ต้องเป็นคดีระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจมีข้อพิพาทกัน เนื่องจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ
ประการที่สอง คดีที่ประชาชนได้รับความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
ประการที่สาม ต้องเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีทั้ง 2 ข้อข้างต้น
ประการสุดท้าย เป็นคดีแพ่งอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นคดีผู้บริโภค
เอกสารที่ผู้บริโภคต้องเตรียม
1. หลักฐานการยื่นฟ้องทั้งหมด
2. เอกสารประกอบคำฟ้อง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุล (หากมีการเปลี่ยน ชื่อ-นามสกุล)
*ผู้บริโภคได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสิ้น เว้นแต่นำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุอันควร หรือการเรียกค่าเสียหายมากเกินควร หรือมีพฤติการณ์ที่ศาลเห็นควรเรียกเก็บค่าฤชาธรรมเนียมทั้งที่เป็นการเรียกเก็บทั้งหมด หรือเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น
ผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องได้ที่ ‘ศาลผู้บริโภค’ หรือ ‘ศาลแผนกคดีผู้บริโภค’
โดยผู้บริโภคจะยื่นเรื่องได้ที่แผนกคดีผู้บริโภค ณ ศาลผู้บริโภค ในศาลประจำจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือศาลอื่นๆ นอกเขตก็ได้ หากความเสียหายไม่เกิน 300,000 บาทให้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวง และหากความเสียหายเกิน 300,000 บาทให้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด หรือศาลแพ่งในกรุงเทพฯ คลิก >> ลิงก์รวบรวมศาลทั้งหมด https://www.coj.go.th/home/linkcoj.html
ขั้นตอนหลังการยื่นฟ้อง (คดีผู้บริโภคพิจารณารวดเร็วและกระชับ)
1. หลังศาลรับฟ้องจะนัดวันพิจารณาคดี
2. ออกหมายเรียกจำเลยมาให้การต่อศาล (พ่อค้า แม่ค้า แบรนด์ต่างๆ สถานพยาบาล โรงพยาบาล และร้านค้า) เพื่อสืบพยานและไกล่เกลี่ยวันเดียวกัน
3. หากผู้ประกอบการต้องการอุทธรณ์สามารถทำได้ภายใน 1 เดือน นับตั้งแค่มีการพิพาษาศาลชั้นต้น (หากมีมูลค่าเกินสองแสนสามารถยื่นต่อศาลชั้นฎีกาได้)
ติดต่อแผนกคดีผู้บริโภค ศาลแพ่ง โทร. 02-541- 2389
ทำได้จริง เปิดกรณีตัวอย่างฟ้องศาลผู้บริโภค
เรื่องนี้ถูกส่งต่อกันมาหลายปีแล้ว แต่สามารถแสดงให้เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกคน เนืองจากเป็นกรณีนี้ตัวอย่างการฟ้องร้องที่ง่าย เร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้อใช้ทนายและไม่ต้องปวดหัวกับ สคบ.
“วันนี้ขอดราม่าเล็กๆ แต่มีสาระประโยชน์ครับ …
ผมไม่ค่อยมีเวลา จึงชอบซื้อของทางเน็ต เป็นอย่างนี้ตั้งแต่ในไทยยังไม่มีการขายของทางเน็ต ได้แต่ซื้อใน eBay มาสิบกว่าปีก่อน ตอนนี้ไทยเรามีการขายของทางเน็ตกันเพียบ ผมก็ซื้อตามปกติ และไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย จนกระทั่งได้ไปซื้อของจากค่ายดังของเยอรมัน บริษัท ล. โฆษณาในทีวีน่าเชื่อถือ
ในครั้งสุดท้ายที่ซื้อ ปรากฏว่าสั่งของ ๒ ชิ้น ๆ ละ ๙๐๐ บาท พอมาส่งเราก็จ่ายเงินไป ๑,๘๐๐ บาทเลยเมื่อรับพัสดุ แต่เปิดกล่องดูมีของแค่ชิ้นเดียว แถมใบส่งของเป็นคนอื่น แต่ของอย่างเดียวกัน ผมก็ถ่ายรูปของในกล่อง พร้อม Delivery Note ส่งให้เจ้าหน้าที่ดู เจ้าหน้าที่รับปากว่าจะติดต่อในทันที….เงียบหายไปสามวัน มีคนจากบริษัทอะไรไม่รู้โทรมาสอบถาม ผมก็เล่าเรื่องแล้วก็…เงียบ
หายไปอีก ๑๐ วัน ก็มีเจ้าหน้าที่ บริษัท ล. โทรมาแล้วก็…เงียบ
หายไปอีก ๕ วัน ก็มีเจ้าหน้าที่โทรมาอีก ผมเลยบอกว่า “ผมเป็นผู้บริโภคที่ดี จ่ายเงินก่อนเห็นสินค้า (ตามกฎของคุณ) คุณได้เงินผมไปแล้วแต่สินค้าผมได้ไม่ครบ เพราะคุณส่งผิด เวลาผ่านเป็นเดือนยังไม่เรียบร้อย แค่ส่งของให้ผมอีกชิ้นมันยากหรือครับ ความผิดของคุณทำไมผมต้องมารับกรรมนั้นด้วย ผมให้เวลา ๗ วัน เกินจากนั้นไปเจอกันในศาล” เจ้าหน้าที่ก็วางสายไปอย่างไม่พอใจ เพราะได้ยินเสียงแข็ง ๆ ของผมที่เริ่มมีอารมณ์
เย็นวันที่ ๗ ผมก็นั่งพิมพ์ภาพที่ถ่ายส่งให้ดูตอนเปิดกล่อง หลักฐานอย่างอื่นไม่มีอะไรเลย
เช้าวันรุ่งขึ้นผมเดินไปศาลแขวงในเขตที่ผมสั่งซื้อของทางอินเตอร์เน็ต ศาลที่มีเขตอำนาจเหนือบ้านผมนั่นเอง เพื่อให้เจ้าพนักงานศาลช่วยจัดการให้
เริ่มเข้าสาระครับ
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคบัญญัติให้ต้องมีเจ้าพนักงานศาล ทำหน้าที่ร่างฟ้องให้ผู้บริโภคเรียกกันว่า “เจ้าพนักงานคดี” ช่วยค้นหาหลักฐานทางทะเบียนของจำเลยให้ กรณีนี้คือหนังสือรับรองบริษัท ศาลจะนัดเร็วครับ ประมาณ ๓๐ วันได้เจอกัน ไม่เสียค่าธรรมเนียม ไม่ยุ่งยากอะไรเลย เพราะกฎหมายนี้สร้างเพื่อคุ้มครองใครครับ….แน่นอน ผู้บริโภค
เจ้าพนักงานศาลร่างคำฟ้องให้ผมเสร็จเรียบร้อยโดยไม่ต้องมีทนายความ ให้ผมลงชื่อในเอกสารหลายอย่าง แล้วพาไปยื่นที่เคาเตอร์รับฟ้อง ได้วันนัดเป็นอันเสร็จเรียบร้อย
หลังจากได้รับคำฟ้องผมแล้ว บริษัท ล. โทรหาบอกจะคืนเงิน ๙๐๐ บาท ผมบอกว่าตอนนี้จะตกลงอะไรให้ไปคุยกันในศาล เลยได้ส่งอีเมล์ให้ผม บอกว่าได้รับของที่ผมส่งคืนแล้ว ๒ ชิ้น ผมก็เริ่มฉุนเล็กน้อย จะเอามาเป็นทริกในคดีหรือเปล่าว่าผมคืนของเอง ไว้เจอกัน ส่งสองสามครั้ง แถมส่งข้อความมือถืออีกต่างหาก ทีอย่างนี้ดำเนินการรวดเร็วฉับไวในทันที
ในวันศาลนัด ทางบริษัท ล. เตรียมทนายความที่จ้างจากนอกบริษัท ล. นิติกรของบริษัท และผู้จัดการ เตรียมเอกสารมาปึกใหญ่ ศาลถามว่าคุณไม่ส่งของใช่ไหม เขาก็ขอไกล่เกลี่ย
ในห้องไกล่เกลี่ย ผู้จัดการก็ขอโทษ ทนายเริ่มรู้ว่าผมต้องการเดินไปตรงจุดไหน ทนายความในและนอกห้องพิจารณาก็ทักทายยกมือไหว้ เรียกท่าน หน้าบัลลังก์ก็รู้จัก พอรู้สถานะเราการพูดคุยก็ง่ายขึ้นเยอะ ทนายความไม่โย้เย้เรื่องมากตามสไตล์ ในที่สุดก็ยอมตามฟ้องทุกประการ จ่ายเงินคืนให้ผม ๙๐๐ บาท พร้อมค่าเสียเวลาค่าโมโหอีก ๒๐,๐๐๐ บาท หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ๑๕ วัน และแถมคูปองลดราคามาอีก ๑,๐๐๐ บาท ผมก็เอาเงินที่ได้ไปทำบุญ
อยากให้รู้ว่า…..
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคนั้น บัญญัติไว้สำหรับผู้บริโภค ไม่ต้องมีทนายความ ไม่ต้องหาหลักฐานของฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ มีเจ้าพนักงานศาลร่างคำฟ้องให้เรียบร้อย แถมหากต้องสืบพยาน ศาลถามให้เลย ไม่ต้องรู้อะไรมากครับ แค่รู้ว่าเราเสียหาย เสียเปรียบอย่างไร คุ้มครองไม่ว่าเรื่องการซื้อขาย การให้บริการ สินค้าไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ส่งของไม่ครบ สินค้ามีปัญหากับเนื้อตัวร่างกาย เรียกว่าได้หมด แถมหน้าที่นำสืบตามที่เราฟ้องตกกับฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และค่าส่งหมายเลย สรุปง่าย ๆ ไม่เสียเลยสักบาทก็แล้วกัน คนไทยยังรู้เรื่องนี้น้อย แถมยังยอมเสียเปรียบอย่างไม่น่าเชื่ออีกจำนวนมาก หากเราโดนกระทำและเสียหาย การนิ่งเฉย คือการทำลายระบบ เพราะเราไม่ต่อต้านผู้ไม่สุจริต กลับสนับสนุนให้เขาเหิมเกริมกล้าปฏิบัติแย่ๆ กับลูกค้าอีกนับจำนวนไม่ถ้วน
การกระทำของผมในครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ทำให้เขาไม่กล้าไปปฏิบัติแย่ ๆ กับประชาชนอีกจำนวนมาก นั่นคือสิ่งที่ผมชนะ
.หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ.”