“แสงไฟสาดจ้า
วัตถุบางอย่างกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาด้วยความเร็วสูง
พร้อมกับเสียงที่ดังมากของบางสิ่งบางอย่าง”
สถานการณ์ทั้งหมดที่ล่อหลอมรวมกันและเกิดขึ้นมาไม่กี่เสี้ยววินาที สร้างความตื่นตระหนกตกใจ
จนไม่รู้ว่าจะวิ่งหนีไปทางไหนจึงปลอดภัย
เหลือทิ้งไว้เพียงภาพวินาทีสุดท้าย ที่กว่าเห็นก็มีรถยนต์เข้ามาจ่อประชิดถึงตัวเสียแล้ว
จากนั้นพวกมันก็ไม่อาจเห็นสิ่งใดได้อีกเลย

ภาพจาก : Jamlong Vilailert
เราไม่รู้จะเริ่มขึ้นจากตรงไหน
หากเริ่มได้ภาพนี้คงเล่าเรื่องราวในป่าที่คนเมืองไปเยือนปีละหนได้ดีกว่า
นี่คือ อีเห็น ที่ถูกรถยนต์ชนตายบนถนนด่านสามยอด-บ้านกร่าง ซึ่งราดยางในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นภาพที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้ดังที่สุด เรียกร้องแทนสัตว์ป่าที่กำลังถูกคุกคาม เมื่อมีโครงการจากภาครัฐโครงการหนึ่งกำลังจะปรับปรุงถนนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานระหว่างบ้านกร่างและเขาพะเนินทุ่ง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อทำให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวสะดวกมากขึ้น โดยรัฐบาลอนุมัติสร้างถนนคอนกรีตกว้าง 4 เมตร เพื่อเดินทางขึ้นไปชมทะเลหมอกที่เขาพะเนิน
หรือแม้แต่ภาพแมวดาวนอนตายบนถนนที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติโพสต์เองจากการที่นักท่องเที่ยวขับชนบนถนนเมื่อปีก่อน
ถนนที่นำพาพวกเรานักท่องเที่ยวให้ไปเจอกับความสวยงามแบบนี้
กำลังจะฆ่าสัตว์ป่ามากมาย
การเข้ามาชื่นชมธรรมชาติที่แลกมาด้วยชีวิตของสัตว์ป่าระหว่างทางอาจจะมีราคาที่แพงเกินไป ถนนคอนกรีตฆ่าสัตว์ป่ามาแล้วหลายหมื่นชีวิต (ยังไม่นับตัวที่โดนชนแล้วหนีเข้าไปตายในป่า)
อย่างไรก็ตามถนนดังกล่าวไม่ได้ทำเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ใช้ตรวจการณ์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เป็นการปรับปรุงเส้นทางเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและสนับสนุนภารกิจของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. (2561) ที่ผ่านมานายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้พาสื่อมวลชลกว่า 30 ชีวิตเพื่อตรวจสเส้นทางถนนดิน ในบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง ระยะทาง 30 กม. มีสภาพพุพังจึงจำเป็นต้องปรับปรุงเป็นคอนกรีตและเชื่อว่าสัตว์สามารถปรับตัวได้ โดยภาพสัตว์ที่ตายนั้น เป็นถนนคอนกรีตบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีสถิติแค่ 1 ตัวเท่านั้น
ถึงกระนั้นภายในงานกิจกรรม “ถนนในป่าอนุรักษ์ ความพอดีอยู่ตรงไหน…Road KILLS !!” ที่จัดขึ้นก่อนหน้าเมื่อวันที่ 3 พ.ย. (2561) เพื่อนำเสนอถึงทางออกและทางเลือกในการปรับปรุงถนนพะเนินทุ่ง ความยาว 20.5 กิโลเมตรในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จัดโดยเครือข่าย 15 องค์กรอนุรักษ์ ระบุว่า การปรับปรุงถนนเป็นคอนกรีตของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีการตัดถนนผ่านใจกลางป่าที่เป็นบ้านของสัตว์หายากทั้งเสือ สัตว์ป่าสงวน เก้งหม้อ เลียงผา ฯลฯ เปรียบเสมือนหัวใจของป่าแก่งกระจาน ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เปรียบเสมือนพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่ามากกว่าอุทยานแห่งชาติ เพราะมีสัตว์อาศัยชุกชุม กรณีตัวอย่างบนถนนที่ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีสัตว์ป่าโดนรถชนตายบนถนนปีละมากกว่า 3,000 ตัว (สาเหตุการตายจากรถชนอาจจะมากกว่าการแอบลักลอบเข้าไปล่าสัตว์ในป่าเสียอีก)
นอกจากนี้ งานวิจัยของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาอ่างฤาไน ยังสนับสนุนเรื่องการไม่ควรทำถนนเพิ่มเติมอีกว่า ในหนึ่งปีมีสัตว์ป่าถูกรถชนตายมากกว่า 2,900 ตัว จนกลายเป็นวาระใหญ่ว่า สุดท้ายแล้วควรจะปิดถนนทางหลวงสาย 3259 หรือไม่?
ขณะที่นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังเปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 19 ต.ค. (2561) ที่ผ่านมาอีกว่า เราจำเป็นจะต้องนึกถึงวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งเขตป่าอนุรักษ์ฯ ไม่ว่าจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ ในกรณีของอุทยานแห่งชาติแม้เราจะอนุโลมให้มีการแบ่งโซนให้มีใช้ประโยชน์ทางนันทนาการการท่องเที่ยวได้ แต่เป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุด ก็ยังเป็นการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมดุลของระบบนิเวศ
หรือแม้ต่อให้มีการกั้นรั้วไม่ให้สัตว์ข้ามถนนก็ดูไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เนื่องจากรั้วจะกลายเป็นจำกัดที่อยู่อาศัยบีบให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมแคบลง ต้องผสมพันธุ์ในโครโมโซมที่ใกล้กันมากเกินไปจนเสี่ยงสูญพันธุ์ถึงที่สุด
ดังนั้นการคัดค้านการปรับปรุงถนนตลอดทั้งเส้นทาง 20.5 กิโลเมตร บนพื้นถนนสายพะเนินทุ่งที่ตัดผ่านพื้นที่ใจกลางอุทยานแห่งชาติ อันเปรียบเสมือนหัวใจของป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นบ้านถิ่นอาศัยของสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าหายาก โดยระหว่างการก่อสร้างต้องมีทั้งเครื่องจักรขนาดหนัก รถขนปูนที่ต้องวิ่งไม่ต่ำกว่าหลายพันเที่ยว กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนและทำลาย
เรามีบทเรียนมาแล้วจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เรามีบทเรียนมาแล้วจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
ประวัติศาสตร์บอกพวกเราแล้วว่า ร้อยละ 30 – 50 ของสัตว์ทุกชนิด มีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ
จนอาจสูญพันธุ์ภายในอีก 50 ปี
หากถามว่าเป็นความผิดใคร
ต้องโทษพวกเราเอง