การใช้ Platform อย่าง Facebook เป็นพื้นที่ขายของได้รับความนิยมอย่างมากในแวดวงพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่รู้หรือไม่ว่า ช่วงหลังๆ มานี้ มีเหตุการณ์เข้าข่ายหลอกขายของ (ไม่ใช่หลอกลวงนะ) มากขึ้น เนื่องจากได้รับของจริง แต่หน้าตาและคุณภาพคนละอย่างกับที่ลงขายเลย โดยเฉพาะ Ads. โฆษณาบน Facebook แบบนี้
เห็นอะไรแปลกๆ ไหมนะ?
Caption บนโพสต์น่ะสิมันแปลกๆ ไปใช่ไหม พักหลังมาเราอาจจะเห็นโฆษณาทำนองแบบนี้เยอะมาก เป็นการลงขายสินค้า ที่ใช้ศัพท์เเปลจาก Google translate ทั้งหมด ที่ทำโดยคนต่างชาติ (ส่วนมากเป็นประเทศจีน) ที่ไม่มีบริษัทเป็นตัวเป็นคนในประเทศไทย ขายสินค้าปลอม และใช้วิธีเก็บเงินปลายทาง เช่น บริษัท ZhengZhou You Ke Shu e-commerce Trading company
โดยผู้เสียหายข้างต้นได้ทำการสั่งซื้อกล้อง กล้อง GoPro Hero 6 หรือสินค้าประเภทเสื้อผ้า, รองเท้า, นาฬิกา อีกมากมายจากเพจ Zhengzhou You Ke Shu e-commerce trading company ซึ่งภายหลังได้ปิดหนีไปแล้ว
จุดสังเกตก็ คือ ภาษาไทยที่ใช้เป็นประโยคที่ผิดรูปประโยค เหมือนออกมาจาก Google translate และราคาที่ถูกเกินจริงแบบไม่สมเหตุสมผล เช่น ลด 80% หรือบางครั้งอ้างว่ามีหน้าร้านในประเทศไทย อาจต้องมีการเช็กหน้าร้านให้ชัวร์ก่อน
สำหรับวิธีป้องกันสามารถทำได้โดยปฏิเสธรับของจากบริษัทที่ส่งของมาให้เรา ในฐานะผู้บริโภคเรามีสิทธิปฏิเสธไม่รับของ หรือใช้ 5 วิธีนี้เพื่อสังเกตเพจว่าน่าเชื่อถือหรือไม่
5 วิธีสังเกตเพจปลอมไม่น่าเชื่อถือ เสี่ยงถูกแก๊งต่างชาติหลอกขายของ
1. ยอดไลก์เพจ ยอดไลก์ไม่ใช่สิ่งที่จะปั๊มกันง่าย แม้จะมีโปรแกรมช่วยปั่นยอดแต่ก็ใช้เงินลงทุนสูงส่วนมากจะไม่เป็นที่นิยม เพราะไม่คุ้ม ถ้าโดนจับได้ก็ต้องปิดเพจหนี้อยู่ดี หากเพจไหนยอดไลก์น้อยๆ อาจต้องระวังกันหน่อย
2. ตามลิงก์ไปดูที่เว็บไซต์ จากนั้นให้ไปดูที่ช่องทางการติดต่อบนเว็บไซต์หากเว็บไซต์นั้น ไม่มีช่องทางให้ติดต่อเลยก็อย่าไปหลงเชื่อเด็ดขาด โดยเฉพาะของที่ราคาถูกมากๆ ส่วนใหญ่คดีแบบนี้แจ้งความไปก็จับได้ยาก เพราะเป็นแก๊งชาวต่างชาติที่ไม่ได้มีตัวตนหรือตั้งบริษัทในประเทศไทย หรือจับได้ก็มักไม่ได้เงินคืน
3. อย่าซื้อของที่มีแต่หน้าเพจ Facebook ปกติแล้วพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ส่วนมากจะไม่ได้มีแต่แฟนเพจบน Facebook แต่จะมีทั้ง Line@, Twitter, Instagram และเว็บไซต์ และเพจปลอมส่วนมากไม่มีหน้าร้านที่เป็นเว็บไซต์ เนื่องจากการทำธุรกิจออนไลน์ในไทย โดยเฉพาะเว็บไซต์นั้นจำเป็นต้องจดทะเบียนเพื่อให้ได้เครื่องหมายไปใส่ที่หน้าเว็บไซต์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมถึงมีหมายเลขเสียภาษีเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ หากเพจไหนไม่มีก็แจ้งสแปมได้เลย
4. ถ้าอยากได้จริงๆ ให้นัดรับ บางครั้งก็ไม่ใช่การซื้อขายระหว่าง Business to Customer แต่เป็น Customer to Customer ที่ขายของผ่านกลุ่มของรักสินค้านั้นๆ ใช่ไหม คำแนะนำก็คืออย่าโอนเงิน ให้นัดเจอแล้วจ่ายสด เพื่อตรวจทั้งสภาพของว่าตรงกับรายละเอียดไหม
5. เก็บทุกหลักฐานการสนทนา หลักฐานระหว่างสนทนา คำถาม คำตอบ หรือคำสัญญาทั้งหมดจะเป็นหลักฐาน เพื่อเรียกร้องเอาผิดผู้ขายได้ภายหลังหากเกิดกรณีผิดพลาดขึ้นมา