‘ขายของออนไลน์’ ต้องแสดงราคา
เอะอะก็ Inbox ทักแชท ของเหล่าแม่ค้าออนไลน์ที่ไม่ยอมแสดงราคา สร้างความน่าหงุดหงิดในให้ผู้บริโภคไม่น้อย จนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ผ่านศูนย์ร้องเรียนราคาสินค้าและปริมาณ และโทรสายด่วน 1569 โดยเฉพาะช่องทาง Social Commerce อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ฯลฯ ซึ่งทำให้กรมการค้าภายในจำเป็นต้องออกมาตรการขั้นเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 28 และมีโทษตามมาตรา 40 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามก็คือ ระหว่าง ‘หน้าร้านออนไลน์’ ที่ต้องแสดงราคาสินค้า กับโพสต์ที่เป็นโฆษณาสินค้า (ซึ่งลักษณะของโฆษณาไม่จำเป็นต้องแสดงราคาก็ได้) กลายเป็นปัญหาที่ตามมา ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด และรองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้ อธิบายเรื่องนี้ว่า ปกติแล้วการโฆษณาไม่จำเป็นต้องลงราคา กรณีจำเป็นต้องแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรก อีมาร์เก็ตเพลส (e-Marketplace) เป็นระบบที่มีการจัดส่งและระบบชำระเงินครบวงจร ซึ่งกรณีแบบนี้ต้องใส่รายละเอียดชัดเจน เพราะเป็นเหมือนหน้าร้านออนไลน์ เวลาที่คนจะเลิกของใส่ตระกร้าจำเป็นต้องรู้ข้อมูลและราคา รวมถึงค่าจัดส่ง และเงื่อนไขต่างๆ
กลุ่มที่สอง เป็นโซเชียลมีเดีย หากเราโพสต์ลงไปว่า เรามีบริการ A B C D ลงในเฟซบุ๊ก และมีคน Inbox มาถามว่า บริการ A B C D ราคาเท่าไร ผ่านทาง Inbox และเราบอกราคาไป ถามว่าเราผิดไหม?
กรณีที่ยกตัวอย่างมา ดร.อุดมธิปก มองว่าไม่น่าจะเป็นความผิด เนื่องจากไม่ได้โพสต์ขายสินค้า แต่เป็นการทำโฆษณาสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ตัดสินใจซื้อ ผู้บริโภคแค่ขอข้อมูล แต่ถ้าผู้บริโภคซื้อแล้วถึงทราบราคาทีหลัง น่าจะเป็นการผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวมากกว่า
“โดยหลักการแล้ว กรณีออฟไลน์การที่เราหยิบสินค้ามาไม่รู้ราคา และไปจ่ายเงิน มารู้ราคาทีหลังแบบนี้ผิด ผู้บริโภคต้องทราบราคาก่อนจ่ายเงิน หรือการที่เราจะใช้บริการเราต้องรู้ราคาก่อนใช้บริการ หากเราไม่แจ้งราคาแบบนี้ถึงเอาเปรียบผู้บริโภค กลับมาที่กรณีบนออนไลน์ หากสินค้าที่เราแค่โฆษณาบนออนไลน์แต่ไม่ระบุราคา กรณีนี้ไม่ผิด แต่ที่ผ่านมาปัญหาน่าจะเกิดจากผู้ประกอบการรายเล็ก เพราะรายใหญ่ใช้วิธีโฆษณา ขณะที่รายเล็กใช่ Social Media เป็นหน้าร้านโพสต์ขายสินค้า ซึ่งการใช้ Social Media เป็นหน้าร้านกับโฆษณาก็มีความแตกต่างกันออกไปอีก”
“การมีหน้าร้านขายผ่าน Social Media คือกระบวนการขายจะทำผ่าน Social Media แต่หากเป็นแค่การโฆษณาผ่านทาง Social Media แสดงว่าต้องมีหน้าร้านหรือซื้อขายผ่านช่องทางอื่นๆ เช่นเว็บไซต์ที่ลงรายละเอียดราคาไว้ทั้งหมด แต่แค่ใช้ Social Media โปรโมทเฉยๆ แบบนี้ถามกลับว่าผู้ประกอบการต้องลงราคาหรือไม่?”
กรมการค้าภายใน แนะวิธีทำอย่างไรไม่ให้ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542
ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการดังกล่าว ได้กำหนดให้มีการแจ้งราคาสินค้าให้ชัดเจนบนร้านค้าออนไลน์ ซึ่งบังคับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าหรือบริการออนไลน์ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ และอินสตาแกรม เป็นต้น โดยต้องบอกรายละเอียดของสินค้าให้ชัดเจน เช่น ประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนัก ของสินค้า และการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันสินค้า และราคาที่แสดงต้องแสดงให้ตรงกับราคาจำหน่ายหรือค่าบริการที่ให้บริการ ยกเว้นกรณีจำหน่ายในราคาต่ำกว่า หากผู้ใดฝ่าฝืน จะมีความผิดตามมาตรา 28 และมีโทษตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งปัจจุบันศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้าและปริมาณได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการค้าออนไลน์ จำนวน 328 คำร้อง ดำเนินการตรวจสอบแล้วเสร็จ 196 คำร้อง พบการกระทำความผิด จำนวน 26 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 87,000 บาท
สำหรับประเด็นเรื่องการโฆษณาและการขายสินค้า จากการสอบถามไปที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ข้อมูลกับ Beevoice ว่า กฎหมายดังกล่าวแยกชัดเจนระหว่างโฆษณาหรือการขาย โดยดูที่เจตนาการโพสต์เป็นหลัก การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์หมายถึงการแนะนำ ขณะที่การขายคือการทำให้คนมาซื้อ เช่น Toyota โฆษณารถยนต์ลงทุกสื่อ ทางแบรนด์ก็ไม่ได้ระบุว่า สนใจภายในนาทีนี้ให้ติดต่อ … เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้คือโฆษณา การตามตีความจึงตีความตามเจตนา
“ที่กฎหมายตัวเองนี้ออกมาและมีมาตรการที่เด็ดขาดเนื่องจากข้อเท็จจริงในปัจจุบันที่เกิดขึ้นนั้น ร้อนละ 90 เป็นการขายสินค้า ไม่ใช่โฆษณา ซึ่งกฎหมายดูที่เจตนาชัดเจน”
กลับมาที่การขายสินค้าทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้แนะนำ พ่อค้าแม่ค้าว่า หากไม่อยากโดนลงโทษจำเป็นต้องปฏิบัติตามให้ชัดเจน เมื่อเป็นการขายสินค้าจำเป็นต้องบอกราคาและรายละเอียดให้ชัดเจนทั้งหมด สามารถดูตัวอย่างได้ที่เว็บไซต์อย่าง Lazada ที่บอกเงื่อนไขค่าบริการจัดส่งด้วย
ทางกรมการค้าภายใน ยังให้ข้อมูลอีกว่า ปัจจุบันบทลงโทษบุคคลธรรมดาอยู่ที่ 10,000 บาท หากเป็นนิติบุคคลอยู่ที่ 20,000 บาท หากมีครั้งที่สองก็คูณไปสองเท่า หากที่ครั้งที่สามก็คูณโทษปรับไปสามเท่า ทบไปเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานที่ป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบขณะเดียวกันก็รักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ แม้จะมีกรณีที่ร้องเรียนเข้ามา เราก็ยังมีเจ้าหน้าเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงตามกระบวนการเสมอ ผู้ประกอบการไม่ต้องเป็นกังวล สังเกตได้ว่าที่ผ่านมาแม้จะมีร้องเรียนกว่า 328 คำร้อง แต่มีกรณีที่ผิดจริงจริงจากการตรวจสอบอยู่ที่จำนวน 26 รายเท่านั้น
โพสต์แบบไหนที่ไม่ผิดบ้าง?
หากเป็นกรณีขายสินค้าสิ่งที่ต้องมีหน้าร้าน รายละเอียดจะต้องประกอบด้วย ราคาสินค้าและบริการ ราคาค่าบริการเสริมอื่นๆ เช่น ภาษี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าจัดส่ง ค่าจัดส่งลงทะเบียน ค่าจัดส่งด่วน น้ำหนัก ชนิดของสินค้า ประเภทของสินค้า