เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นซ้ำซากมานาน แถมผู้บริโภคร้องเรียนแล้วร้องเรียนอีกสุดท้ายก็ลงเอยแบบเอวังด้วยประการล่ะฉะนี้ นั่นคือเรื่องหายเข้ากลีบเมฆ ปล่อยให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนร้องไห้หนักมาก ประเด็นที่ว่าก็คือเรื่องของหอพักที่ถูกโขกค่าเช่า โดยเฉพาะในเรื่องของค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าซึ่งมีให้เห็นอยู่เป็นประจำทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวโดยเฉพาะในโลกโซเชียลมักจะมีให้เห็นบาอยครั้งเช่น
“…หอพักโกงชัดๆ ค่าน้ำหน่วยละ 18 บาท ใช้ไป 1 หน่วย แต่เรียกเก็บ 100 บาท ทำให้คนไม่ประหยัดน้ำ ใช้น้ำไปหน่วยเดียวเปิดทิ้งอีก 4 หน่วย เรียกเก็บ 100 บาทเหมือนกัน ใครมีหน้าที่ตรวจสอบหน่อย สคบ. ทำงานเพื่อประชาชนบ้างได้ไหม…”
“…หอผมคิดค่าน้ำเริ่มต้น 10 หน่วยๆ ละ 28 บาท ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย 280 บาท ถ้ามิเตอร์ขึ้นมา 1 หน่วยก็บวกไปอีกหน่วยละ 28 บาท หน่วยงานไหนตรวจสอบได้ช่วยตรวจสอบได้ช่วยตรวจสอบด้วยครับ เดือดร้อนมาก 30% ของรายได้ก็ต้องมาจ่ายค่าที่พัก ขอบคุณครับ…”
ถ้าจะว่าไปแล้วในรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องดังกล่าวมีการร้องเรียนกันมาอย่างต่อเนื่องแถมมีการรายงานข่าวด้วย เช่นวันที่ 28 มิ.ย.58 มีการรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่าได้มีประชาชนร้องเรียนผ่านศูนย์บริการประชาชน โดยระบุว่ามีประชาชนหลายรายได้รับความเดือดร้อนจากกรณีถูกเจ้าของห้องพักและหอพักเอาเปรียบคิดราคาค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง โดยหากเปรียบเทียบราคากับบ้านเรือนธรรมดาพบว่าผู้เช่าหอพักต้องจ่ายราคาสูงกว่า 1-2 เท่า
ในรายงานข่าวยังอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของเลขาธิการสคบ. ณ ขณะนั้น (ร.ต. ไพโรจน์ คนึงทรัพย์)ที่ระบุว่า ศูนย์บริการประชาชนของสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่าถูกเจ้าของห้องพักและหอพักคิดราคาค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าสูงเกินจริงนั้น เบื้องต้นได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ สคบ.เข้าไปดำเนินการตรวจสอบตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว พร้อมทั้งเชิญคู่กรณีเข้ามาไกล่เกลี่ยทั้งนี้ หากพบว่ามีรายการใดที่ไม่ถูกต้องก็จะเจรจาให้เจ้าของหอพักลดราคาให้เหมาะสม
“ที่ผ่านมาเจ้าของหอพักมักอ้างว่าการจัดเก็บค่าน้ำของหอพักที่มีราคาสูงกว่าปกติ เนื่องจากทางหอพักมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนของค่าไฟฟ้า เพราะต้องสูบน้ำขึ้นไปยังห้องต่าง ๆทำให้ต้องคิดราคาสูงกว่าปกติ”
ที่จริงสคบ.มีกฎหมายที่ควบคุมธุรกิจหอพักไว้อยู่แล้ว โดยออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาของสคบ.กำหนดให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินโดยบังคับให้เจ้าของหอพักต้องออกหลักฐานการรับเงินจากผู้บริโภคพร้อมระบุรายละเอียดต่าง ๆให้ครบถ้วน หากไม่ทำตามถือว่ามีความผิด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
จากวันที่ 28 มิ.ย.58 กระทั่งถึงวันที่ 22 พ.ย.60 เป็นประเด็นที่ชวนให้ต้องกลับมาฉุกคิดต่อว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรื่องเดิม ๆปัญหาเดิม ๆ ที่ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของหอพัก
ประการสำคัญในเมื่อมีกฏหมายควบคุมธุรกิจหอพักอยู่แล้วทำไมถึงยังได้เกิดปัญหาซ้ำซาก นั่นคือคำถามที่ต้องการคำตอบจากหน่วยงานที่บังคับใช้กฏหมายว่าที่ผ่านมาท่านได้ทำอะไรลงไปบ้างกับปัญหา แต่ถึงกระนั้นหลาย ๆคนยังคงรอด้วยความหวังแม้อาจจะดูริบหรี่ ๆ แต่หลายคนก็ยังคงเฝ้ารออยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน ไม่ใช่แค่ลมปากที่ให้สัมภาษณ์แล้วก็หายไป
ล่าสุด นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกมาเปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการควบคุมการให้บริการหอพักทั่วประเทศ โดยได้จัดทำออกมาเป็นประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาสคบ.กำหนดให้ธุรกิจให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณเดือนมี.ค. 61 เพื่อช่วยแก้ปัญหาบรรดาหอพักที่คิดค่าเช่า หรือค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า สูงเกินจริงรวมทั้งกรณีการเรียกเก็บเงินจากผู้เช่าอย่างไม่เป็นธรรมจะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด
โดยสาระสำคัญของการควบคุมตามกฎหมายฉบับนี้ มีข้อกำหนดให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามทั้งการกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการเช่า เช่นเขียนชื่อที่อยู่ของผู้ให้เช่าและผู้เช่า กำหนดระยะเวลาในการเช่าทรัพย์สินและอุปกรณ์ที่ให้เช่า อัตราค่าบริการต่าง ๆทั้งค่าน้ำประปา ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์รวมถึงวิธีการชำระค่าบริการ
พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขการเรียกเก็บค่าเช่าและบริการต่าง ๆให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงค่าเช่าหรือค่าบริการต่าง ๆ กำหนดเงื่อนไขและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการคืนเงินประกันและ กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับอัตราค่าบริการ ทั้งค่าน้ำประปา กระแสไฟฟ้าต้องอ้างอิงกับอัตราที่ผู้ให้บริการ คือการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค เรียกเก็บจากผู้ให้เช่าในลักษณะของการหารเฉลี่ยจากหน่วยหรือปริมาณที่ใช้จริงในแต่ละเดือน เบื้องต้นมองว่า ไม่ควรคิดราคาเกินจากเดิม 20 % อีกทั้งยังให้จัดทำหลักฐานการตรวจสภาพสถานที่เช่าอีกด้วย
ขณะเดียวกันยังได้กำหนดข้อห้ามต่าง ๆไว้ ทั้ง การห้ามเรียกเก็บเงินค่าเช่าล่วงหน้า ต้องไม่เกิน 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่บางหอพักเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้านานเกินจริงเช่น เรียกเก็บล่วงหน้า 3-6 เดือน หากผู้เช่าออกก่อนก็ริบเงินดังกล่าวไปทั้งหมด พร้อมกันนี้ยังห้ามไม่ให้เรียกเก็บเงินประกันความเสียหายเกิน 50% ของอัตราค่าเช่า และห้ามเรียกเก็บเงินค่าต่อสัญญาเช่าจากผู้เช่ารายเดิม อีกทั้งยังมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำรายละเอียดของการบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงราคาไว้ล่วงหน้าพร้อมทั้งให้ไปดูค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ต่อไป
รองเลขาธิการสคบ.ยังได้กล่าวต่อว่า หลังจากคณะกรรมการฯเห็นชอบร่างกฎหมายนี้แล้วขั้นตอนจากนี้สคบ.จะไปจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดให้เสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้แล้วปรับแก้บางรายการตามข้อเสนอ
จากนั้นจึงเสนอกฎหมายเข้าที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาประมาณเดือนก.พ.61 เพื่อออกคำสั่งประกาศออกมาทันที คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนมี.ค.61 จะประกาศออกมาใช้ได้หากใครทำผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และเมื่อสคบ.ประกาศออกมา แล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็น่าจะทำประกาศราคาแนะนำ ทั้งหอพัก และค่าน้ำค่าไฟ ตามออกมาเช่นเดียวกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่อาจต้องปรับปรุงพ.ร.บ.หอพักเข้ามาประกอบกันด้วย
ก็ได้แต่หวังว่าปัญหาเรื่องของการขูดรีดค่าหอพัก ทั้งในเรื่องของค่าน้ำก็ดี หรือค่าไฟ ตลอดจนเรื่องอื่น ๆจะได้รับการเยียวยาแก้ไขกันซะที อย่าได้เป็นเพียงแค่ลมปากที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้เข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังเมื่อกฏหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เพราะไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะมองว่าท่านเป็นแค่ “เสือที่อยู่บนกระดาษ” เป็นอุปสรรคต่อการคืนความสุขให้ประชาชน