สำหรับ ‘พาราควอต’ หรือยาฆ่าหญ้า เป็นยากำจัดศัตรูพืชอันดับ 1 ที่เกษตรกรทั่วโลกนิยมนำมาใช้เพราะราคาถูก เห็นผลเร็ว แถมผสมน้ำแล้วพ่นใส่พืชใบหญ้าและวัชพืชก็ตายทันที ยิ่งมองในแง่ต้นทุนทางเศรษฐกิจพาราควอต ถึงว่าคุ้มทีเดียวเพราะออกฤทธิ์รุนแรงกำจัดวัชพืชได้มาก
เหรียญย่อมมี 2 ด้าน
หนังสยองขวัญเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ศูนย์ข่าว สปสช .สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายงานว่า ใน 3 ปี ที่ผ่านมาพบคนไทยตายจาก ‘สารเคมีกำจัดศัตรูพืช’ 1,715 ราย ทำคนป่วย 13,908 คน สูญเสียค่ารักษากว่า 62.81 ล้านบาท ต้นเหตุสำคัญมาจากยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าเชื้อรา สารเคมีทางการเกษตรและยาฆ่าแมลง สร้างความกังวลต่อสุขภาพประชาชนระยะยาวจากภาวะตกค้างปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เกิดภาระค่ารักษาประเมินไม่ได้ พร้อมหนุนมติ สาธารณสุขห้ามใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ร่วมปกป้องสุขภาพของประชาชน
แต่ที่ตลกร้านก็ คือ ประเทศไทยยังอนุญาตให้มีการนำเข้าสารเคมีตัวร้ายที่ชื่อ พาราควอต ต่อไป จากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมี มติ ไม่สั่ง ยกเลิก เพราะข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพประชาชนและผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่เพียงพอ แม้ว่าใน 53 ประเทศจะสั่งห้ามจำหน่ายแล้วก็ตาม โดย 2 ประเทศในนั่น คือ อังกฤษ ที่เป็นต้นกำเนิดของพาราควอตและ จีน ที่มีโรงงานพาราควอตใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency -EPA) หรือ “อีพีเอ” เป็นหน่วยงานระดับประเทศ หรือระดับรัฐบาลกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ระบุข้อมูลที่น่าสนใจว่า พาราควอต มีความเป็นพิษสูง แค่เพียงกินเข้าไปนิดเดียวก็ถึงตายได้ และไม่มียาถอนพิษ อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้พาราควอตเป็นสารเคมีอันตรายระดับกลาง เพราะผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวหากถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย และเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากรับประทาน หรือสัมผัสกับผิวหนังในบริเวณกว้าง
สถานการณ์อันตรายสารเคมีสะสมในพืชจากต่างประเทศ
สำนักข่าว AFP รายงานศาลสหรัฐฯ สั่งบริษัทใหญ่จ่ายค่าชดเชยให้ผู้ดูแลสนามหญ้าของโรงเรียนที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายราว 289 ล้านดอลลาร์

ดเวย์น จอห์นสัน หลั่งน้ำตาภายหลังผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินของคณะลูกขุนที่ศาลสูงแคลิฟอร์เนีย เมืองซานฟรานซิสโก, AFP
ในเดือนเมษายน ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐยังสั่ง สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (United States Environmental Protection Agency: EPA) ออกคำสั่งห้ามขายคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ที่เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช
เนื่องจาก 20 ปีที่มา EPA ดึงเรื่องไว้ไม่ประกาศห้ามใช้แม้จะทราบผลกระทบต่อการพัฒนาสุขภาพกายและใจของเด็กทารกและเด็ก เนื่องจากมีบันทึกผลการทดสอบของคลอร์ไพริฟอส
ความพยายามในการใช้สารอื่นทดแทน
พืชสมุนไพรไทยอย่าง ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สะเดา ฯลฯ มีคุณสมบัติกำจัดศัตรูพืช ควบคุมแมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช และเป็นการทำเกษตรแบบอินทรีย์นั้น กลับถูกคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกประกาศห้ามใช้สมุนไพรดังกล่าวทั้ง 13 ชนิด ประกอบด้วย สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวถูกยกเลิกไปเนื่องจากโดนประชาชนและเกษตรคัดค้านอย่างหนัก พร้อมถูกวิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
มูลนิธิชีววิถี (BioThai) และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยอนุญาตให้มีการนำเข้า ไกลโฟเซต สารเคมีกำจัดวัชพืชก่อมะเร็ง ซึ่งศาลสหรัฐเพิ่งตัดสินให้ บริษัท มอนซานโต้ ชดใช้ความเสียหายแก่นายดีเวย์น จอห์นสัน เกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท โดยไกลโฟเซตเป็นสารพิษที่ประเทศไทยนำเข้ามากที่สุด สูงถึง 59.85 ล้านกิโลกรัม หรือคิดเป็นสัดส่วน 30.27% ของการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมดในปี 2560
นอกเหนือจากนั้น ประเทศไทยยังอนุญาตให้นำเข้า พาราควอต สารพิษซึ่งมีพิษเฉียบพลันสูงและก่อโรคพาร์กินสัน มากถึง 44.5 ล้านกิโลกรัม หรือคิดเป็นสัดส่วน 22.5% ของการนำเข้าสารเคมีทั้งหมด ทั้งๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้รัฐบาลแบนสารพิษนี้แล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา โดยมีประเทศต่างๆ มากถึง 53 ประเทศที่แบนและประกาศแบนไปแล้ว ทั้งยุโรป จีน เวียดนาม กัมพูชา และลาว
สารพิษอีกชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงที่ Thai-PAN พบตกค้างมากที่สุดในผักและผลไม้ และศาลสหรัฐเพิ่งสั่งให้ EPA แบนภายใน 60 วันนั้น มีการนำเข้า 3.33 ล้านกิโลกรัม มากที่สุดในกลุ่มสารเคมีกำจัดแมลง สารพิษนี้ส่งผลกระทบต่อสมองทารกและเด็กอย่างถาวร กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้กรมวิชาการเกษตรไม่ต่อทะเบียน และเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายแบน แต่กลับถูกเพิกเฉย”
สถานการณ์น่าห่วง เอกชนผู้นำเข้าสารเคมีรายใหญ่ กดดันรัฐบาล สั่งปิดปาก BIOTHAI
เรื่องดูเหมือนจะไม่จบง่าย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา นายอนันต์ ดาโลดม ในฐานะผู้ประสานงาน “กลุ่มเครือข่ายเกษตรและอาหารปลอดภัย” ซึ่งประกอบไปด้วย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตร และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เป็นต้น ได้ทำหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ “ยับยั้งการกระทำของ BIOTHAI รวมทั้งให้ BIOTHAI ออกมาแสดงความรับผิดชอบ”
ซึ่งคาดว่ามาจากโพสต์ของ BIOTHAI ที่เปิดเผยหนังสือการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน คำชี้แจงของคณะทำงานยกร่างของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อชี้แจงข้อคัดค้านของกลุ่มองค์กรดังกล่าว ตลอดจนการเปิดเผยความจริงที่ระบุว่า กลุ่มที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน มีบุคคลใดบ้าง และบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบริษัทค้าสารพิษ เช่น ซินเจนทา ไบเออร์-มอนซานโต้ เจียไต๋ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ เช่น ไบเออร์-มอนซานโต้ ซินเจนทา ดูปองท์-ไพโอเนียร์ เป็นต้น
กรณีที่เปิดเผยชื่อผู้คัดค้าน พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ของ BIOTHAI นั้นมีรายชื่อเกี่ยวข้องกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และสมาคมของบริษัทค้าสารพิษข้ามชาติ