“มีคนเขียนด่าในห้องน้ำทั้งๆ ที่เราก็ไม่เคยทำอะไรให้เลย”
“ฉันว่าพวกเกย์คือพวกโรคจิต คนพวกนี้สมควรฆ่าตัวตายไปซะ”
“แกมันโง่ แกมันคือเด็กประหลาดที่สุดในโรงเรียน”
“อีอ้วน ทำไมไม่ไปออกกำลังกายซะบ้าง ฉันน่ะโคตรเกลียดคนอ้วนเลย”
นี่คือหนึ่งในตัวอย่างคำของพฤติกรรมด่าทอ Bully ที่เด็กๆ เผชิญในโรงเรียนหรือในโซเชียลมีเดีย การถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bullying) เป็นภัยคุกคามที่เยาวชนไม่ใช่แค่ในไทย แต่ทั่วโลกก็กำลังเผชิญ และฝังรากลึกในโรงเรียนมาอย่างช้านาน
หากคุณนึกภาพไม่ออกว่ามันเลวร้ายอย่างไร เราขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ Bully ที่ Monica Lewinsky จัดทำเป็นแคมเปญขึ้น เพราะเธอเองก็เคยเผชิญเรื่องราวเหล่านี้มาก่อน จากเหตุการณ์ถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์อื้อฉาว กับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ Bill Clinton ระหว่างที่เธอเป็นเด็กฝึกงานที่ White House
รู้สึกอย่างไร? เมื่อเอาคำด่า Bully มา ‘ด่า’ ในชีวิตจริง
พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบถึงขั้นทำลายทั้งชีวิตคนๆ หนึ่งได้ทีเดียวทำไมถึงเกิดการ Bully ขึ้น
Dan Olweus ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Bergen ประเทศนอร์เวย์ ได้อธิบายรูปแบบการกลั่นแกล้งไว้ว่า จะมาจากองค์ประกอบ 3 ประการด้วยกัน คือ พฤติกรรมที่วางแผนและเกิดขึ้นซ้ำๆ ระหว่างเด็กหนึ่งคนกับอีกคน สองบุคคลที่มีภาวะอ่อนแอกว่าหรือมีการรวมตัวเป็นกลุ่มกลั่นแกล้งคนหนึ่งคน สามมีเจตนาที่จะทำร้าย ทั้งตัวบุคคลิกของผู้ถูกแกล้งและผู้กลั่นแกล้ง สามารถเกิดได้จากครอบครัวและมีความสอดคล้องกัน เนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวอย่างไม่เหมาะสมอาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านบุคคลิกภาพของเด็ก จนทำให้ถูกปฏิเสธจากกลุ่มเพื่อน ขาดทักษะทางสังคม ไม่สามารถป้องกันตนเอง และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ อันนำไปสู่การถูกรังแก
ส่วนผู้ที่กลั่นแกล้งผู้อื่นนั้นเรียกได้ว่าขาดทักษะการทำความเข้าใจและเข้าหาคนอื่น (Prosocial behavior) พวกเขามักมองไม่เห็นตนเองว่าเป็นคนแบบใด แต่มักจะมองตนเองในเชิงบวกมาก ทำให้มองไม่เห็นความรู้สึกของคนอื่น ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ แต่อย่างไรก็ตามเด็กๆ ไม่ได้เกิดมาร้าย เพราะผลวิจัยจากหลายเล่มเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่า สังคม พ่อแม่ ครอบครัว คนรอบข้าง ที่ปลูกฝังแนวคิดและอารมณ์ ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมทั้งสิ้น (ทั้งเด็กที่โดนแกล้งและแกล้งผู้อื่น)
การ Bully ไม่ได้มีแค่คำด่า แต่บางครั้งถึงกับลงไม้ลงมือ
การกลั้นแกล้ง อาจเป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายผ่านทางคำพูดและร่างกาย แต่ในบางครั้งการ Bully กลับไม่ได้เกิดขึ้นแค่ระหว่างปัจเจกบุคลเท่านั้น แต่เป็นการทำโทษจากสังคมก็มี จนส่งผลต่อจิตใจ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับกลุ่มหรือบุคคลที่อำนาจน้อยกว่า หรือมีบุคคลิกทางกายภาพและอุปนิสัยที่แตกต่างจากสังคม โครงการวิจัย (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2554) โดยนางสาวศิวาภรณ์ โคตรสุมาตย์ ได้ทำการวิจัยเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการอบรมเลี้ยงดู การทำหน้าที่ของครอบครัว กับการถูกข่มเหงรังแกโดยเพื่อนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 พบว่า การที่เด็กมีการกลั้นแกล้งกันนั้น แม้จะถึงขั้นทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ และการรีดไถ ภายในโรงเรียน แต่บุคลากรในโรงเรียนกลับไม่พบเห็นเหตุการณ์มากนัก หรือมองว่าการแกล้งกันเป็นเรื่องปกติของเด็ก ไม่คิดว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
“ในโลกของความจริง เคยมีพ่อแม่นำเรื่องที่ลูกชายถูกแกล้งไปบอกกับครู แต่ครูและทางโรงเรียนก็ไม่เคยจัดการอะไร มองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เด็กๆ แกล้งกัน” นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของการจัดการปัญหาเรื่อง Bully ในโรงเรียน
การรับมือเมื่อถูก Bully
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการ Bully ที่หลายคนกำลังเผชิญไม่ได้เผชิญแค่ในโลกของความจริงเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงบนพื้นที่สาธารณะอย่าง Social Media ที่มีสถิติจากงานวิจัยของ DTAC โดยความร่วมมือกับ Telenor Group พบว่า เด็กไทย 33% เคยประสบปัญหาการถูกแกล้งหรือก่อกวนบนโลกออนไลน์จากคนไม่รู้จักและคนรู้จัก ภายใต้วิธีการและเป้าหมายแบบเดิม แต่ที่หนักที่สุดและหนักกว่าก็คือวิธีการบนโลกออนไลน์กำลังรุนแรงและกระจายรวดเร็วกว่าหลายเท่า อย่างไรก็ตามงานวิจัยดังกล่าว ได้แนะนำถึงวิธีรับมือเมื่อโดน Bully ด้วยว่า กุญแจสำคัญคือเด็กๆ 4 ใน 5 จะรู้สึกมั่นใจและพร้อมรับมือมากขึ้น เมื่อมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของ Cyberbullying
บางครั้งเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการ Bully
หากเรายอมรับมันว่าเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ เห็นว่าเป็นการแกล้งกันของเด็กๆ สุดท้ายแล้วคนหรือสังคมหรือสถาบันที่ยอมให้เกิดการ Bully ขึ้น คุณกำลังพาตัวเองให้ไปอยู่ในจุดของการ Bully ด้วยการยอมให้มันเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการแกล้งกันในสถาบันการศึกษา ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนกลับถูกปิดโดยโรงเรียน เรื่องจบที่การไกล่เกลี่ยให้ยอมรับเงื่อนไขบางประการ แต่สุดท้ายแล้วความช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกลั่นแกล้งไม่เกิด หรือแม้แต่การสร้างความเข้าใจให้กับคนที่ไป Bully คนอื่นก็ไม่เกิด