‘เสรีภาพเองก็มีขอบเขต ขอบเขตของเสรีภาพคือการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น’ เป็นประโยคที่ฉันเองก็ได้แต่คิดขึ้นมาหลังจากฟังข้อสรุปของวงเสวนา “สิทธิพลเมืองดิจิทัล: อำนาจสื่อในมือใคร” โดยความร่วมมือระหว่างสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ Center for Humanitarian Dialogue วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการ Media Fun Facts และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ที่ได้ผู้คร่ำวอดในวงการอย่างอดีตหัวเรือกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สุภิญญา กลางณรงค์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนาทั้งรายการตลอดเกือบ 3 ชั่วโมงเต็ม
อำนาจสื่อในมือ Platform
“อำนาจสื่อกำลังถูกควบคุมโดย Platform” นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นิยามขึ้นอย่างน่าสนใจ ก่อนจะขยายความต่อไปว่า ทุกวันนี้ Platform เหล่านี้ไม่ได้มีแค่อำนาจเข้าถึง และอำนาจคุมสื่ออย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจในการควบคุมผู้บริโภคได้ด้วยผ่านระบบอัลกอริทึ่ม ขณะที่อำนาจในการคุมสื่อของภาครัฐกับไร้ทิศทาง จนการปิดกั้นข่าวสารอ่อนแอลง ทำให้สื่อมวลชนอาชีพมีความจำเป็นในฐานะความน่าเชื่อถือ สื่อมวลชนวิชาชีพต้องตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องระบบทุน ‘สื่ออยู่ภายใต้ระบบทุน ทำให้อำนาจสื่อจึงอยู่ภายใต้ระบบทุนตามไปด้วย’
สอดคล้องกับที่อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ อย่าง พิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ มองบทบาทของ Platform ในยุคปัจจุบันว่าเป็นดาบ 2 คม แม้จะทำให้สื่อมวลชนอาชีพและพลเมืองมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการรับรู้มากขึ้น แต่ก็มีด้านลบด้วยม
ผู้มีอิทธิพลต่อพลเมืองอย่าง Facebook ที่เป็น Platform ก็ควรต้องรับผิดชอบต่อระบบของตัวที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้และต้องยอมรับให้ได้ว่า Facebook ตอนนี้เป็นผู้ผลิต Content ทำให้หน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมเป็นของ Platform เช่นกัน
ขณะที่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการเว็บไซต์ข้อมูลด้านกฎหมายและสิทธิพลเมือง iLaw ก็มีท่าทีแสดงความเป็นห่วงเรื่องอำนาจของ Platform เช่นกัน โดยเฉพาะ Facebook เพราะตอนนี้กลายเป็นอัลกอริทึ่มของ Facebook กำลังเป็นตัวกำหนดทิศทางของเนื้อหาให้ผู้บริโภคแทน
“Facebook ใช้อัลกอริทึ่มเลือกวิธีการนำเสนอเนื้อหา เช่น VDO หรือ Live Streaming จะเห็นมากกว่า Text แต่ไม่ได้เลือกประเภทเนื้อหา อันนี้สิน่าหวง”
ยิ่งทุนเข้าครอบงำสื่อได้มากเท่าไร สื่อยิ่งไม่มีอำนาจ
การที่ทุนเข้าครอบงำสื่อได้เท่าไร สื่อเองก็ย่อมมีอำนาจน้อยลง ขณะที่สภาพปัจจุบันผู้บริโภคเองก็ให้ความสนใจกับเนื้อหาที่เน้นดราม่ามากกว่า เมื่อทุนต้องการยอดไลก์ คอมเมนต์ แชร์ ยอดวิว ฯลฯ
ซึ่ง ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ผู้บริโภคออนไลน์นั้นเต็มไปด้วยนักเลงคีย์บอร์ด ชอบเสพเนื้อหาดราม่า เมื่อนายทุนจับทางได้ นักข่าวก็ผลิตเนื้อหาเพื่อให้ได้ยอด
ปัญหาที่ตามมาคือคำว่า ‘พลเมืองดิจิทัล’ คำว่าพลเมืองต้องตื่นรู้ แต่ทุกวันนี้ผู้บริโภคชาวไทยไม่ยอมจ่ายเพื่อให้ได้คุณภาพ
“พลเมืองเน็ตไทยไม่ตื่นตัว เต็มไปด้วยนักเลงคีย์บอร์ด”
ด้าน ธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยังร่วมขยายภูมิทัศน์สถานการณ์ผู้มีอำนาจในสื่อให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น โดยบอกว่า โลกตอนนี้เราสามารถแบ่งวรรณะผู้มีอำนาจในสื่อออกมาได้ 4 ระดับ อันดับที่ 1 อำนาจนายทุน อันดับที่ 2 อำนาจรัฐ ลำดับที่ 3 อำนาจสื่อ และอันดับที่ 4 คือ ‘ประชาชน’
“อำนาจสื่ออยู่ในมือนายทุน รองลงมาคือรัฐตามด้วยสื่อเอง และลำดับสุดท้ายคือ ประชาชน”
กม.ระบุชัดเจน อำนาจสื่ออยู่ในมือ ‘ทุนใหญ่ รัฐบาล สื่อ หน่วยงานความมั่นคง’
“ถ้าสังเกตที่มาตรา 4 ในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ….. จะพบคำตอบว่า ใครเป็นเจ้าของอำนาจสื่อ” อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต เกริ่นขึ้น แล้วอธิบายความหมายของกฎหมายนั้นต่อว่า มาตรา 4 ระบุชัดเจนเกี่ยวกับการยกเว้นกฎหมายนี้ว่า กฎหมายนี้ไม่บังคับใช้แก่การดำเนินการทางศาสนา, กิจการสื่อสารมวลชน และการดำเนินการกับข้อมูลเครดิต และสมาชิกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบข้อมูลเครดิตทางธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังยกเว้นกิจการสื่อสารมวลชน ซึ่งในสายตาประชาชน กิจการที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวมากอย่างหนึ่งเลยคือ สื่อ ถ้าสื่อได้รับการยกเว้นก็จะหมายความว่า สื่อสามารถละเมิดประชาชนได้ โดยการเอาข่าวส่วนตัวของคนไม่ลงได้แม้ไม่ยินยอม
“ถ้าดูตามกฎหมายดังกล่าว คงพอจะบอกได้ว่า ทุนใหญ่ รัฐบาล สื่อ หน่วยงานความมั่นคง เป็นกลุ่มที่มีอำนาจในสื่อ ไม่ใช่ประชาชน”
อย่างไรก็ตาม ช่วงท้ายของงานเสวนาผู้ดำเนินการเสวนาอย่างอดีต กรรมการ กสทช. อย่าง สุภิญญา กลางณรงค์ ได้ขมวดบทสรุปทั้งได้อย่างน่าสนใจทิ้งท้ายว่า สิทธิพลเมืองดิจิทัล เป็นเรื่องของทุกภาคส่วน
- เป็นเรื่องรัฐ เอกชน สื่อ นักวิชาการ และผู้บริโภค
- ต้องทำให้ต้นทุนดิจิทัลถูกลงเพื่อให้ปะชาชนเข้าถึงได้
- ต้องใช้การรวมกลุ่มกันต่อรองกับ Platform เรียกรองความรับผิดชอบ และความมีส่วนร่วม
- สร้างมาตรฐานความโปร่งใสเรื่องต่างๆ
- สร้างอำนาจการต่อรองให้พลเมือง
- ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัล
- สร้างการรับรู้ให้ประชาชนรู้เท่าทันดิจิทัล