“100 เมตรจากหน้าบ้านไปปากซอยใช้เวลา 1 ชั่วโมง” รถติดจนกระเป๋าเมล์ลงไปนั่งคุยเล่นกับแม่ค้าขายพวงมาลัย *ภาพที่ไม่อยากเห็นให้ชินตา
เส้นจราจร (Traffic) สุดโหดร้ายในกรุงเทพมหานคร ที่สีแดงแผดคล้ายเส้นเลือดใหญ่สร้างความกร้าวใจให้ใครหลายคนไม่น้อย ให้ต่างบ่นกรนด่าลง Social Media คุณค่าทางเศรษฐกิจที่พลเมืองในชาติต้องเสียไปบนท้องถนนกินเวลาราว 4 – 6 ชั่วโมงต่อวันนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกเยอะ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังเผชิญปัญหานี้ เพราะบรรดาเมืองเศรษฐกิจสำคัญของโลกเองก็กำลังเผชิญวิกฤตนี้เช่นเดียวกัน
“You’ll never walk alone.
วลีเด็ดในใจของเด็กหงส์แดงเป็นคำอธิบายได้ดีที่สุด”
Fortune นิตยสารธุรกิจชื่อดัง ภายใต้การก่อตั้งของ TIME Magazine รายงานสภาพจราจรบนท้องถนนทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยสามารถยึดพื้นที่ข่าวหน้า 1 ของสื่อต่างประเทศได้อีกครั้ง
“ไทยกลายเป็นประเทศที่การจราจรแออัดมากที่สุด จากผลของอัลกอริทึ่มติดตามข้อมูลจราจรแบบ Real-time”
คำถามที่ตามมาก็คือ ปัจจัยอะไรที่ส่งให้ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก (เรื่องรถติด)
Fact
รายงาน xerox ที่ทำการวิจัยเรื่องนี้ บอกถึงสาเหตุความแออัดของจราจรว่า เกิดจากรถยนต์มีจำนวนมากกว่าถนน, ประชาชนไม่มีทางเลือกการเดินทาง, ปัญหาการปล่อยไฟจราจร, และอุปนิสัยของคนขับรถเอง
Reality
ความจริงแล้ว การขยายถนนดูไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ยิ่งขยายถนนคนยิ่งซื้อรถยนต์เพิ่มมากขึ้น เพราะขยายถนนแต่ไม่ขยายระบบขนส่งสาธารณะ ส่งผลให้ประชาชนไม่มีทางเลือกการเดิน สุดท้ายต้องซื้อรถยนต์ส่วนตัว การซื้อรถยนต์จึงเป็นการแก้ไขปัญหาเดียวที่ประชาชนพอจะสามารถทำได้บ้าง
เช่นเดียวกับการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยเข้ามาอยู่ในเมือง เพื่อให้สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองได้ แต่กลับยิ่งยังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น การเดินทางกินเวลาชีวิตของประชาชนไปมาก คนรวยสามารถซื้อคอนโดหรูกลางเมืองเพื่อเดินทางไปทำงานได้สะดวก ขณะที่คนรายได้น้อยการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ในค่าโดยสารที่รัฐบาลไม่ได้เข้าไปอุ้มราคาไว้ ก็ยังนับว่าสูงเกินไป (ราคารถไฟฟ้าของไทยมีราคาสูงใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ทั้งที่รายได้ต่อหัวประชากรของไทยน้อยกว่า ซึ่งมาจากราคาการลงทุนทางเทคโนโลยีการทำที่ไทยไม่สามารถทำเองได้ หรือต่อให้ทำเองได้ก็ถือว่าแพงอยู่ดี)
ส่วนเรื่องอุปนิสัยคนขับรถยนต์ นั้นเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องทำควบคู่กันไป นอกจากนี้ การพัฒนาเรื่องขนส่งสาธารณะแบบรถเมล์ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องวางนโยบายไว้ให้ประชาชนเช่นกัน เพราะโมเดลดัวอย่างที่ประสบความสำเร็จให้เห็นคือเกาหลีใต้ ที่วางระบบ BRT ทั่วกรุงโซล เป็นการลงทุนที่ถูกกว่ารถไฟฟ้ามาก และเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่มจริงๆ
Problem solving
จากการให้สัมภาษณ์ ของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุเองว่า ปัญหาอย่างเดียววันนี้ของรถติดในกรุงเทพฯ คือเมืองมีความแออัดเกินไปแล้ว และการแก้ไขปัญหาจราจรแบบในต่างประเทศ ถ้าจะทำให้ประเทศไทย ไม่สามารถทำได้สักอย่างแก้ไขลำบาก เราจะลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน รถไฟฟ้า รถไฟ ก็เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ แล้วก็ไปติดขัดเรื่องตึกอาคารต่างๆ นี่คือปัญหาการเติบโตที่ไม่มีคุณภาพของเมืองใหญ่ (เรื่องการวางผังเมือง)
นอกจากนี้การขยายระบบขนส่งสาธารณะแบบราง หรือรถไฟฟ้า 3 สาย “สายสีส้ม – สายสีชมพู – สายสีเหลือง” เพื่อแก้ไขความแออัดทางคมนาคมระยะยาว ที่สุดท้ายแล้วชาวเมืองอาจต้องทนรถติดสาหัสกันอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยที่ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้รถติดในเมืองก็อาจยังไม่ได้รับการแก้ไข และไม่มีทางรู้ได้ว่าเมื่อรถไฟฟ้าเสร็จแล้ว รถจะหายติดหรือไม่ หรือรถจะติดเหมือนเดิม เพิ่มเติมแค่คนไม่มีรถยนต์เดินทางสะดวกมากขึ้น เพราะดูจากความเป็นจริงแล้วปัญหาความแออัดจราจรนั้นอาจไม่ได้มาจากจำนวนรถยนต์เท่านั้น แต่อาจมาจากการเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น จนส่งผลให้ทั่วสารทิศต้องเดินทางมาหาโอกาสที่เมืองหลวง
การวางระบบจราจร และการวางโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ รถไฟ รถเมล์ รถราง ที่ครอบคลุมตรงเวลา ซึ่งว่ากันตามจริงแล้ว ปัญหาของจราจรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันในหลายมิติจริงๆ