แต่ต้องเน้นย้ำเลยว่าเรื่องของ “การทำสัญญา”ไม่ใช่เรื่องของ “คำสัญญา”นะ เพราะคำสัญญาเป็นเพียงแค่คำพูดคำจาไม่ได้มีเป็นลายลักษณ์อักษร บางครั้งก็นำไปสู่ปัญหาตามมาดังที่เห็นบนหน้าสื่อมากมาย สำหรับหลักในการทำสัญญานั้นทางสคบ.ระบุว่าจะต้องมีรายละเอียดหรือองค์ประกอบที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้คือ
ประการที่ 1 ต้องมีวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาว่าจัดทำขึ้นเพื่ออะไร ซึ่งควรมีการระบุไว้ให้ชัดเจน ประการที่ 2 ต้องมีการระบุชื่อที่อยู่ของคู่สัญญาเพื่อประโยชน์ในการติดตามบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา ,ประการที่ 3 ความสามารถของคู่สัญญา กรณีที่เป็นผู้เยาว์จะต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมคือบิดา มารดาของผู้เยาว์ให้ความยินยอมก่อน เป็นต้น
ประการที่ 4 ต้องถูกต้องตามแบบหรือไม่ เช่นกรณีเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ คือที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ,กู้เงินก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เป็นต้น ประการที่ 5 ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสหากเป็นการทำสัญญาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่นซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ ขายฝาก เช่าซื้อ จำนอง ซึ่งก่อให้เกิดภาระจำยอมในสิทธิเก็บกินหรือกรณีนำเงินสินสมรสไปให้กู้ต้องให้คู่สมรสของคู่สัญญาให้ความยินยอมด้วย มิฉะนั้นคู่สมรสอาจฟ้องเพิกถอนสัญญาได้ในภายหลัง
ประการที่ 6 ต้องมีการระบุเรื่องของค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับหากมีการผิดสัญญาให้ชัดเจน ประการที่ 7 เรื่องของค่าธรรมเนียม ภาษี ต้องมีการระบุว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบหรือจะให้รับผิดชอบร่วมกัน ประการที่ 8 เรื่องของลายมือชื่อของคู่สัญญาหากมีการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือ ต้องมีพยานในการรับรอง 2 คนจึงจะใช้บังคับได้ ประการสุดท้าย พยานที่รู้เห็นการทำสัญญาแม้กฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องมีพยานแต่ก็ควรมีพยานไว้เพื่อเบิกความยืนยันในการทำสัญญาเมื่อมีเหตุพิพาทเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สคบ.ยังได้มีคำเตือนหรือข้อควรระวังในเรื่องของการทำสัญญา ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่ 6 ประการด้วยกันดังนี้คือ ประการแรก ควรจะมีหลักฐานแม้ว่ากฎหมายจะให้ทำได้ด้วยวาจาก็ควรทำเป็นหนังสือเพื่อให้เกิดความชัดเจน ประการที่สอง อย่าเซ็นชื่อลงในกระดาศเปล่าหรือแบบพิมพ์ที่มิได้กรอกข้อความไว้ ประการที่สาม ทุกครั้งที่มีการชำระหนี้ สิ่งสำคัญคือการขอใบเสร็จหรือหลักฐานการรับชำระหนี้หรือขอหลักฐานแห่งหนี้คืนมา หรือ ขีดฆ่าทำลายหลักฐานการเป็นหนี้เสีย
ประการที่สี่ ข้อความที่ระบุไว้ในสัญญาควรจะระบุให้ชัดเจน รวมถึงต้องไม่ใช้คำที่มีความหมายคลุมเครือ ประการที่ห้า สิ่งสำคัญอีกประเด็นคือ ในการทำสัญญานั้นควรมีคู่ฉบับเพื่อตรวจสอบในเรื่องของความถูกต้องที่ตรงกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแก้ไขตัวสัญญาเพียงฝ่ายเดียว ประการสุดท้าย หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขในสัญญาภายหลังอย่าตกลงเพียงด้วยวาจา ควรให้คู่สัญญาบันทึกไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
หากคุณมีความจำเป็นที่จะต้องทำหนังสือสัญญาสักฉบับไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด การศึกษาในรายละเอียดให้ถ่องแท้อย่างที่ได้กล่าวมาในข้างต้น เชื่อว่าคำแนะนำต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้คุณได้คลายความกังวลใจลงได้มากก็น้อยอย่างแน่นอน ที่สำคัญคือคุณต้องอ่านหรือศึกษาในรายละเอียดให้ชัดเจน