“เดิมทีการกำหนดให้คืนเงินจองรถยนต์กรณีที่ผู้บริโภควางเงินไว้แล้วแต่ไฟแนนซ์ไม่ผ่าน กำหนดไว้เฉพาะกรณีรถยนต์ใหม่ซึ่งเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา แต่ยังไม่ได้มีการครอบคลุมถึงกรณีรถยนต์ที่ใช้แล้ว
ดังนั้นทางคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาจึงได้เตรียมหารือในเรื่องดังกล่าวนี้ เพื่อดูถึงความเหมาะสม และดูแนวทางก่อนว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย คาดว่าคงใช้ระยะเวลาไม่นานในการหาข้อสรุปและจะเรื่องดังกล่าวนำเสนอให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาชุดใหญ่ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจะส่งต่อให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือคคบ. รับทราบต่อไป”
สำหรับปัญหาการไม่คืนเงินจองของผู้ประกอบธุรกิจที่ผ่านมานั้น พบว่ามีปัญหาลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยบางรายอ้างว่าเป็นเพราะทางผู้บริโภคผิดสัญญาจึงไม่ยอมคืนเงินจองให้ หรือบางรายก็เงียบเฉย ผู้บริโภคแจ้งไปเพื่อขอรับเงินคืนก็บ่ายเบี่ยงจนทำให้เกิดการร้องเรียบนหรือสอบถามมายังสคบ.ในการขอความช่วยเหลือ ซึ่งสคบ.ขอเตือนผู้บริโภคว่าให้สอบถามให้แน่ชัดก่อนตัดสินใจว่า หากกู้ไม่ผ่านจะขอคืนเงินจองได้หรือไม่หรืออาจมีการเขียนระยะเวลาในการขอคืนกำหนดไว้ในสัญญา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
ทั้งนี้ที่ผ่านมาสคบ.ได้ออกประกาศแจ้งเตือนถึงกรณีดังกล่าวไปแล้ว หากผู้บริโภคทำการซื้อรถด้วยระบบเงินผ่อนผู้ซื้อจำเป็นต้องขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน บริษัทไฟแนนซ์ หรือลิสซิ่งต่าง ๆ ซึ่งบริษัทฯ จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อที่ไม่มีประวัติชำระหนี้ล่าช้า ผิดนัดชำระหนี้ มีอาชีพที่มั่นคง มีอายุการทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปี มีรายได้สม่ำเสมอและเพียงพอ ชำระค่างวดรถได้ และในการขอสินเชื่อมักมีเงื่อนไขกำหนดให้มีบุคคลที่สาม ซึ่งมีเครดิตดีเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกัน หรือผู้กู้ร่วมด้วย
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีปัญหาการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในกรณีต่าง ๆ เข้ามาที่สคบ.อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้บริโภคได้จองรถยนต์และวางเงินจอง หรือเงินมัดจำไปแล้ว แต่เมื่อได้รับแจ้งจากสถาบันการเงินว่าไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อซึ่งสคบ.โดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาได้ประกาศให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 ควบคุมอยู่
ซึ่งหากพบกรณีดังกล่าวผู้บริโภคควรติดต่อไปยังผู้ประกอบการเพื่อขอเงินจองคืนโดยทำหลักฐานเป็นหนังสือยืนยันว่าได้มีการยื่นขอสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถจริง แต่เมื่อปรากฏว่าสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อให้นั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคืนเงินจองหรือมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภค ภายใน 15 วัน
นายอุฬารยังได้กล่าวอีกว่า สคบ.อยากฝากถึงผู้บริโภคก่อนการเลือกซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จำเป็นอย่างยิ่งต้องประเมินกำลังซื้อของตนเองว่าไหวหรือไม่ เพราะนั่นคือภาระที่ต้องรับผิดชอบในระยะเวลา 3-5ปี อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก หลังจากรับรถมาใช้งานแล้วเช่น ค่าน้ำมัน, ค่าดอกเบี้ย (รวมอยู่ในค่างวด), ค่าประกันภัย, ค่าซ่อมบำรุงรักษาตามระยะ และค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้แก่ภาษีประจำปี หรือ พ.ร.บ. ดังนั้นสิ่งที่จะละเลยเสียไม่ได้คือผู้บริโภคต้องรอบคอบทุกครั้งก่อนลงนามทำสัญญา ศึกษารายละเอียดในสัญญา ดูเงื่อนไขที่มีการระบุไว้ ก่อนจะเซ็นชื่อลงไปในสัญญาดังกล่าว
อนึ่งสำหรับสถิติการร้องเรียนของสคบ.ในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 61 สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนมารวมถึง 4,900 เรื่อง โดยในเดือน พ.ค. 61 พบว่ามีเรื่องร้องเรียนมาถึง 559 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับยานพาหนะ 59 เรื่อง แยกเป็นเรื่องรถยนต์ 47 เรื่อง รถยนต์มือสอง 6 เรื่อง รถจักรยานยนต์ 5 เรื่อง และรถจักรยาน 1 เรื่อง
โดยปัญหาการร้องเรียนมีทั้ง เรื่องของการชำรุด, ขอเงินจองคืนกรณีไม่ได้รถ, ยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน, ขอความเป็นธรรม, จัดไฟแนนซ์ไม่ผ่านหรือได้ไม่เต็มจำนวน, ขอคำปรึกษา, ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง, รถไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา, ขอประนอมหนี้/ไม่มีเงินจ่าย, ค้างค่างวด/คืนรถ/ส่วนต่างสูง, ค่าติดตามสูงเกินจริง, ผิดไปจากฉลากที่ระบุ, ไม่ได้รับเล่มทะเบียน และศูนย์บริการซ่อม/อู่ซ่อมรถ ไม่ซ่อมรถตามที่ตกลง