ล่าสุดเร็ว ๆ นี้ (26 ก.ค.) นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เป็นประธานในการเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหา E-Commerce ที่ยากต่อการดำเนินการเพื่อรองรับนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งการจัดในครั้งนี้เป็นการจัดครั้งที่ 3 ณ โรงแรมโฟร์วิงส์ สุขุมวิท 26 กทม.
โดยรองเลขาฯสคบ.กล่าวว่าเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้โภค (สคบ.) ในฐานะหน่วยงานกลางในการประสานและให้ความคุ้มครองผู้บริโภค มีหน้าที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้าน E-Commerce ที่มีลักษณะยากต่อการดำเนินการ จึงจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐ องค์กรผู้บริโภค ภาคผู้ประกอบการและภาคประชาชน จำนวน 3 ครั้ง
โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา และครั้งที่ 2 จัดเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งผลการจัดประชุมดังกล่าวจะได้ทำการรวบรวมกระบวนการหารือรวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยจัดทำเป็นรูปแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาด้าน E-Commerce เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอาเซียนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (ACCP) ต่อไป
ขณะที่อีกด้านหนึ่งในการทำงาน นายฐิตินันท์ สิงหา ผู้อำนวยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สคบ.เร่งหาแนวทางในการป้องกัน เฝ้าระวังและตรวจสอบฉลากสินค้ารวมถึงการลักลอบขายสินค้าอันตรายและสินค้าที่อาจไม่ปลอดภัยบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย เพราะที่ผ่านมาได้ตรวจพบสินค้าหลากหลายประเภทนำเข้ามาทางชายแดนหรือวางขายบริเวณชายแดนไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าที่สคบ.ได้มีการสั่งห้ามขาย หรือสินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค
ที่ผ่านมาสคบ.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบการขายสินค้าหลายชนิดในบริเวณพื้นที่ชายแดนแล้ว โดยเฉพาะการตรวจสอบฉลากส่วนใหญ่พบว่าสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศหลายรายการไม่ได้จัดทำฉลากที่ถูกต้อง หรือบางรายการไม่ได้ทำฉลากสินค้าเป็นภาษาไทย ซึ่งสินค้าในลักษณะนี้มักเป็นสินค้าที่มีราคาถูกและไม่มีคุณภาพ ทางสคบ.จึงได้ทำการสุ่มตัวอย่างสินค้ามาตรวจสอบและได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ได้พูดคุยกับผู้ขายได้รับทราบว่าหากนำสินค้าดังกล่าวมาขายจะมีความผิดตามกฎหมายของ สคบ.
“พื้นที่ที่มีความเสี่ยงตอนนี้เป็นบริเวณพื้นที่ชายแดนที่มีการลักลอบนำสินค้า ทั้งที่เป็นสินค้าอันตราย สินค้าไม่มีคุณภาพ สินค้าที่สคบ.ประกาศห้ามขายและสินค้าผิดกฎหมายโดยเฉพาะบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และตัวน้ำยาต่าง ๆ สินค้าประเภทนี้พบว่ามีการลักลอบมาขายจำนวนมากและมีหลากหลายชนิด
ดังนั้นจึงต้องเข้าไปควบคุมและตรวจสอบตามนโยบายของรัฐบาลและทางเลขาธิการสคบ.ได้มอบหมายให้กองคุ้มครองด้านฉลากไปช่วยตรวจสอบฉลากสินค้าประเภท ต่าง ๆ ในพื้นที่ชายแดนว่าทำถูกต้องหรือไม่ ถ้ารายใดจงใจทำผิดก็ดำเนินการลงโทษได้ทันทีเพราะถ้าปล่อยให้สินค้าเหล่านี้เข้ามาขายในประเทศจะเป็นอันตรายกับชีวิตของผู้บริโภคอย่างมาก จากนี้ไปสคบ.จะมีการจัดทีมลงไปตรวจสอบบริเวณด่านชายแดนต่าง ๆ ทั่วประเทศ”
นอกจากนี้เมื่อต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา สคบ.ได้ลงพื้นที่ไปที่จังหวัดสุรินทร์ร่วมกับทางผู้แทนสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ศุนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์ และด่านศุลกากรช่องจอมจัดโครงการเฝ้าระวังและตรวจสอบสินค้าที่อาจไม่ปลอดภัยบริเวณพื้นที่ชายแดนของประเทศ เพื่อไปตรวจสอบการขายสินค้าบริเวณชายแดน
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ร้านค้าส่วนใหญ่ทั้งร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ร้านขายสินค้าประดับยนต์ ร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ไม้ตียุงไฟฟ้า และอุปกรณ์เสียบปลั๊กไฟ ยังมีสินค้าที่ทำฉลากไม่ถูกต้อง จึงได้สั่งให้แก้ไขพร้อมกันนี้ยังได้จัดอบรมเพิ่มความรู้ให้ประชาชนผู้บริโภคได้รู้ เข้าใจและทราบถึงความสำคัญของฉลากสินค้า ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าและใช้บริการต่าง ๆ รู้จักและมีส่วนช่วยสอดส่อง เฝ้าระวังการจำหน่ายสินค้าอันตรายรวมถึงสินค้าที่อาจไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจมีการลักลอบจำหน่ายในพื้นที่เขตชายแดนอีกด้วย
ขณะเดียวกันสคบ.ยังขอแจ้งเตือนให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลด้านการจำหน่ายสินค้า หากพบว่า มีสถานที่ใดที่น่าสงสัยว่าจะมีความผิดก็สามารถแจ้งมายังช่องทางของ สคบ.ได้ ผ่านสายด่วน สคบ.หมายเลข 1166 ตลอดวันและเวลาราชการ