จากข้อมูลในเบื้องต้นสถิติเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นจากเครื่องเล่นได้ระบุรายละเอียดของปัญหาที่เกิดจากเครื่องเล่นไว้หลายประการด้วยกัน เช่นเครื่องเล่นไม่ได้มาตรฐาน ,ไม่มีข้อกำหนดชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ควบคุมเครื่องเล่นแต่ละชนิด ,ขาดระบบการตรวจเช็คหรือตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ขณะเล่นเครื่องเล่นดังกล่าว
สคบ. จึงได้จัดโครงการ“สวนน้ำปลอดภัย สวนสนุกน่าเล่น” ขึ้น เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์เครื่องเล่น ระบบไฟฟ้า จุดเชื่อมต่อของอุปกรณ์เครื่องเล่น การบำรุงรักษา รวมทั้งมาตรการในการดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภค
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ สคบ.ได้ลงพื้นที่ ณ สวนน้ำวานา นาวาและสวนน้ำแบล็คเมาท์เทน วอเตอร์ปาร์คเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยนายฐิตินันท์ สิงหา ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ ประกอบด้วย กรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เทศบาลเมืองหัวหิน ,สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เพื่อเฝ้าระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคจากการใช้บริการสวนน้ำและสวนสนุก และให้ผู้ประกอบการมีความระมัดระวัง รวมทั้งตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องเล่นอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการใช้บริการสวนน้ำและสวนสนุก
อนึ่งก่อนหน้านี้ (25 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ทางสคบ.ได้ลงพื้นที่ในการตรวจสอบ 2 สวนน้ำชื่อดังในจังหวัดชลบุรี มาแล้ว ได้แก่สวนสนุกน้ำรามายณะ และสวนน้ำการ์ตูนเน็ทเวิร์ก พัทยา
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับบาดเจ็บจากการใช้บริการสวนน้ำและสวนสนุก สามารถร้องเรียนมายัง สายด่วน สคบ. 1166 ทางเว็บไซต์ www.ocpb.go.th (ร้องทุกข์ออนไลน์) หรือร้องเรียนด้วยตนเองที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สคบ. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ