ด้วยความรักและห่วงใย Bee Voice มีเรื่องราวดี ๆจากกรณีดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง คราวนี้เป็นข้อมูลจาก Cr.Lawyer Sittiporn lelanapasak ที่ได้กล่าวไว้ถึงฎีกาจากกรณีจอดรถในห้างสรรพสินค้าโดยไม่มีบัตรจอดรถ พร้อมข้อแนะนำหากผู้บริโภคกลัวรถหายจะต้องทำอะไรอย่างไรกันบ้าง ไปดูกันเลยกับคำแนะนำดี ๆ ที่คุณสามารถนำไปใช้ได้ตามแต่สะดวก หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าคำแนะนำดังกล่าวเป็นเรื่องดีน่าสนใจ
ประการแรก เมื่อขับรถเข้าไปจอดในห้างสรรพสินค้าใดหรือเข้าพักในโรงแรมหรือรีสอร์ทใด ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพหรือต่างจังหวัด แนะนำว่าควรจะถ่ายภาพรถให้เห็นป้ายทะเบียนและให้เห็นสภาพสถานที่จอดให้ชัดเจนว่าเป็นที่ใดด้วยโทรศัพท์มือถือ
ประการที่สอง กรณีถ้ารถเกิดหายในห้างก็อย่าเพิ่งเอะอะโวยวาย ถ้ายังไม่มีใบเสร็จในการซื้อสินค้าให้รีบเข้าไปซื้อสินค้าในสรรพสินค้าพื่อจะได้มีใบเสร็จว่าเราได้เข้ามาใช้บริการซื้อสินค้าในห้าง
ประการที่สาม จากนั้นให้แจ้งกับทางห้างฯว่ารถหายพร้อมกับแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยถ่ายสำเนาใบเสร็จให้ไปแต่เราเก็บใบเสร็จตัวจริงไว้ กรณีถ้าห้างฯไม่ยอมจ่ายจะได้ใช้ใบเสร็จพร้อมกับภาพถ่ายของรถในโทรศัพท์มือถือแสดงเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องร้องทางศาล ซึ่งต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รถหาย ถ้าเกิน 1 ปี ถือว่าคดีจะขาดอายุความ
. ประการที่สี่ ทางเพจดังกล่าวยืนยันว่าชนะคดีแน่นอน เพราะมีฎีกาที่ 7471/2556 รองรับแล้วเป็นที่เรียบร้อย ดังมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้คือ
ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556 จำเลยเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ ย่อมต้องให้ความสำคัญกับด้านบริการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย เพื่อสร้างความพึงพอใจและดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆหรือไม่
ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 8 (9),34 บัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องมีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร ทั้งนี้จำเลยยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สินและมีหน้าที่ดูแลด้วยตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง
อย่างไรก็ตามก่อนเกิดเหตุจำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาจอดในห้างของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุได้มีการยกเลิกไปแล้วโดยใช้กล้องวงจรปิดแทน แสดงให้เห็นว่าจำเลยเคยใช้วิธีแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้า ซึ่งเป็นวิธีที่มีการตรวจสอบการเข้าออกของรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลย โดยพนักงานและค่อนข้างรัดกุมเพราะหากไม่มีบัตรผ่านเข้าออก
กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจากสถานที่จอดรถจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย แต่จำเลยกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสีย จนเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกจากลานจอดรถภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยและโจรกรรมรถได้ง่ายยิ่งขึ้น การที่รถยนต์สูญหายขณะที่จอดอยู่บริเวณลานจอดรถของจำเลยจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย
แม้ว่าจำเลยจะปิดประกาศไว้ว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่มีผลใช้เป็นการยกเว้นความรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลย ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น พิพากษาจึงยืนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ฝ่ายจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหาย
ทั้งนี้เดิมทีศาลฎีกาเคยพิพากษาว่ากรณีที่ห้างฯให้นำรถมาจอดแล้วแลกบัตรผ่าน ห้างต้องรับผิดต่อกรณีรถหายเพราะมีการแลกบัตรจึงต้องมีการตรวจสอบการเข้าออกของรถอย่างดี ในคดีนั้นห้างจะโยนความผิดให้กับรปภ.ว่ารปภ.ประมาทเลินเล่อเอง ห้างไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
แต่ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากห้างฯเป็นผู้ว่าจ้างรปภ. ดังนั้นรปภ.จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของห้างฯเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจากตัวแทน ตัวการจึงต้องรับผิดชอบอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหลังแพ้คดีดังกล่าวนี้ทำให้ทางห้างสรรพสินค้าบางแห่งได้ยกเลิกการแจกบัตรผ่าน แล้วหันมาใช้กล้อง วีดีโอตรวจสอบแทน ไม่ให้ รปภ. แจกบัตรผ่านอีกต่อไปซึ่งห้างฯเชื่อว่าต่อไปรถหาย ตนไม่ต้องรับผิด