ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นการเขย่าขวัญต่อผู้บริโภคอย่างไม่อาจปฏิเสธ เพราะส่วนใหญ่มักจะพบได้ในอาหารประเภทของทอด ขนมขบเคี้ยว กลุ่มสแน็ก โดนัท ไก่ทอด เบเกอรี่อาหารฟาสต์ฟูด ครีมเทียม (มาการีน) เนยเทียม ฯลฯ และที่เหนืออื่นใดตลาดของกลุ่มสินค้าประเภทดังกล่าวนี้เติบโตในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง เช่นกรณีของขนมขบเคี้ยว (สแน็ก) พบว่ามีการขยายตัวทุกปี มูลค่ารวมกว่า 35,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 4-6% ปี 2560 ตลาดบิสกิตมีมูลค่าสูงถึง 13,284 – 13,542 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีมูลค่า 12,897 ล้านบาท เป็นขนมขบเคี้ยวขนาดเล็ก 32 % คุกกี้ 27 % เวเฟอร์ 24 % และแครกเกอร์ 17 %
ขณะที่ตลาดโดยรวมของโดนัทในไทย ปี 2558 มูลค่า 3,500 ล้านบาท เติบโตปีละ 8 % ปี 2561 คาดการณ์กันว่าตลาดอาจขยายตัวเป็น 5,600 ล้านบาท โดยมิสเตอร์โดนัทเป็นผู้นำตลาดส่วนแบ่งตลาด 60 % ดังกิ้นโดนัท 30 % คริสปี้ครีม 10 % อื่น ๆ 10 %
เพราะการเติบโตของธุรกิจที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องประสบอาการเจ็บป่วยเพราะอาหารการกิน โดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ระบุไว้ชัดเจนว่ากรดไขมันทรานส์จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเพิ่มระดับไขมันเลว (LDL) และลดไขมันดี (HDL) ในเส้นเลือด ซึ่งนำไปสู่โรคหลอดเลือด โรคหัวใจรวมถึงโรคเบาหวานในที่สุด
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยพบว่าไขมันทรานส์อาจจะนำมาซึ่งอีกหลายๆ โรค ไม่ว่าจะเป็น จอประสาทตาเสื่อม โรคนิ่วในถุงน้ำดี รวมทั้งอาจทำให้ผู้หญิงมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศแผนเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกห้ามการใช้ไขมันทรานส์ ซึ่งพบว่ามีความเชื่อมโยงต่ออัตราการเสียชีวิตก่อนวัยแล้วหลายล้านราย
ผลเสียจากไขมันทรานส์ มีให้เห็นในหลายประเทศ เช่นในอินเดีย และปากีสถาน ร้านอาหารที่นิยมใช้น้ำมันเนยใส (vanaspati) ซึ่งทำจากน้ำมันปาล์ม น่าจะมีส่วนที่ทำให้อัตราผู้ป่วยโรคหัวใจในหมู่ประชากรเอเชียใต้นั้นสูงผิดปกติ
นอกจากนี้ในประเทศปากีสถาน ตามผลการศึกษาในวารสาร Nutrition พบว่าผู้ชายในปากีสถานมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายมากกว่าชาวอังกฤษและเวลส์ถึง 62 % นอกจากนี้นักวิจัยยังได้ระบุว่าการนำน้ำมันที่ใช้แล้วมาอุ่นใช้ซ้ำ ยังจะเพิ่มอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย
อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกเชื่อว่า หากสามารถกำจัดไขมันทรานส์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมอาหารโลกภายในปี 2023 ความพยายามนี้อาจช่วยรักษาชีวิตของประชากรโลกได้กว่า 10 ล้านคนเลยทีเดียว
กลับที่บ้านเรา แม้ว่าคำสั่งในการบังคับใช้ต่อกรณีดังกล่าวจะมีผลในในอีก 180 วันนับจากนี้ แต่ก็สร้างกระแสการตื่นตัวต่อเรื่องดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ โดยศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าโดยมาตรการและคำสั่งนี้จะทำให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกามีการให้ระบุว่าผลิตภัณฑ์อาหารว่ามีทรานส์แฟตเท่าไหร่ ซึ่งจากนี้ไปคำสั่งนี้จะทำให้ผู้บริโภคสบายใจได้เพราะหากแค่กำหนดให้แสดงว่ามีหรือไม่ก็อาจมีวิธีเลี่ยงได้
จากนี้ไปผลิตภัณฑ์ที่เราจะไม่เห็นอีกในตลาดคือเนยเทียมในขนมทั้งหลาย ทั้งพวกโดนัท และเบเกอรี่ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตก็ได้เริ่มปรับตัวให้ไม่มีทรานส์แฟตแล้ว และคิดว่าราคาสินค้าก็คงไม่น่าจะสูงขึ้น ในผู้ผลิตเขาก็มีความต้องการไม่ให้มีทรานส์แฟตอยู่แล้ว
“ขนมที่ติดอันดับ เช่น พายกรอบ คุกกี้เนย ทอฟฟี่เค้ก บราวนี่ ขนมปังเนยสด พายทูน่า แยมโรล พวกนี้เป็นพวกที่เราไม่ส่งเสริมให้รับประทานอยู่แล้ว เพราะในโภชนาการ 2018 เราพยายามให้ลดปริมาณอาหารและพลังงาน ให้มีแป้งและคาร์โบไฮเดรตน้อยลง”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังระบุด้วยว่าในส่วนของการนำเข้าคงจะคุมง่าย โดยในไทยก็มีสำนักงานอาหารและยาที่ปัจจุบันกำลังมีการปฏิรูปให้เข้ารูปเข้ารอย “คำสั่งนี้มีผลมหาศาลหากเราปรับเปลี่ยนอย่าไปนึกถึงผลได้ผลเสียธุรกิจจะได้ไม่ต้องนั่งเสียสตางค์ค่ารักษาพยาบาล” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าเพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้จริงหลังจากที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรเริ่มเข้าควบคุมการนำเข้าวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการสต็อกสินค้าเพื่อจำหน่ายและควรเริ่มดำเนินการโดยทันที สำหรับเวลาการปฏิบัติเพื่อให้อาหารปลอดไขมันทรานส์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพภายใน 6 เดือนหลังจากนี้ เชื่อว่าจะเพียงพอที่ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้
“6 เดือนจากนี้เป็นไปได้แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องควบคุมปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นข้อห้ามเพื่อไม่ให้เกิดการกักตุนและเมื่อทำได้เชื่อว่าการการผลิตอาหาร ขนมปัง ที่ใช้ไขมันทรานส์เป็นหลักจะลดลงด้วย เพราะหาซื้อวัตถุดิบได้ยาก และจะเริ่มปรับเปลี่ยนการประกอบอาหารให้ใช้วัตถุดิบที่เป็นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค”
เลขาฯมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังกล่าวด้วยว่านอกจากนั้นต้องตรวจสอบโรงงานหรือผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับอาหารที่ส่งออกนอกประเทศที่ปราศจากไขมันทรานส์แบบ 100เปอร์เซ็นต์ในประเทศที่ห้ามนำเข้า แต่ในประเทศไทยยังจำหน่ายอาหารที่มีวัตถุดิบของไขมันทรานส์เป็นส่วนผสม
ส่วนจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคด้านราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นหรือไม่ น.ส.สารีกล่าวว่าเชื่อว่าหากผู้บริโภคจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 1 บาท เพื่อซื้ออาหารที่ไม่เป็นภัยต่อสุขภาพ เชื่อว่าเขาจะยอมจ่ายแน่นอน อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวเชื่อด้วยว่าการสนับสนุนและการส่งเสริมให้ประชาชนรับประทานอาหาร หรือขนมไทยจะมีเพิ่มมากขึ้นและถือเป็นโอกาสดีของขนมไทย เช่น ข้าวต้มมัด ขนมกล้วย เป็นต้น”
ทางด้าน นพ.พูลลาภ ฉันทะวิจิตรวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเปิดเผยว่า หากประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีผลบังคับใช้ก็จะเข้าไปดูแลผู้ผลิต เบื้องต้นไม่ให้มีการใช้ไขมันทรานส์ ดังนั้นการจะผลิตต้องบอกเราก่อนว่าใช้กระบวนการใดในการผลิต จากนั้นเราจึงไปสุ่มตรวจอาหารที่มีความเสี่ยงเพราะเราไม่มีกฎหมายบังคับว่าเขาต้องส่งตรวจ โดยการตรวจคงจะไม่แบ่งว่าเป็นรายใหญ่รายย่อย แต่จะดูจากความเสี่ยงเป็นหลัก ทั้งนี้ในอาหารก็ต้องมีการติดฉลากอยู่เช่นเดิมเพราะไขมันทรานส์มีทั้งไขมันทรานส์ธรรมชาติและไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการเติมไฮโดรเจน