ล่าสุดนายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่าได้นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบขายสินค้าอันตรายผ่านสื่อออนไลน์โดยที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องหามาตรการออกมาเพื่อดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
โดยสคบ.จะมีการจัดระบบการตรวจสอบข้อความต่าง ๆ ในสื่อออนไลน์ทั้งหมดว่ามีผู้ใดที่ลักลอบนำสินค้าอันตรายตามที่สคบ.เคยออกประกาศห้ามขายหรือมาวางขายในสื่อออนไลน์บ้างจากนั้นจะได้ประสานงานกับทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อทำการปิดระบบและลบข้อความทิ้ง พร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดตั้งทีมเจ้าหน้าที่สคบ.เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย
สำหรับการควบคุมสินค้าดังกล่าวเป็นเพราะที่ผ่านมา ทางสคบ.ได้ตรวจสอบพบว่าปัจจุบันมีการสั่งซื้อสินค้าที่อาจเป็นอันตรายเช่นเดียวกับสินค้าที่มีคำสั่งห้ามขายหรือสินค้าที่ผิดกฎหมายแพร่หลายมาก ขึ้นในกลุ่มเยาวชน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการลักลอบขายสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม โดยใช้โทรศัพท์ในการติดต่อซื้อ-ขายและมีการชำระเงินค่าสินค้าผ่านทางบัญชีต่าง ๆ พร้อมมีการจัดส่งสินค้าผ่านทางระบบไปรษณีย์หรือบริษัทขนส่งของเอกชน
ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคยังไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าการซื้อ-ขายสินค้าประเภทนี้มีความซับซ้อนและไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมดจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานเพื่อหาทางในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป
รองเลขาฯสคบ.ยังได้กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นสคบ.จะเน้นเรื่องการควบคุมสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือเป็นอันตรายสินค้าที่ห้ามขายก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนสินค้าอื่น ๆ เช่น การสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ตรงละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าไม่มีคุณภาพหรือไม่เป็นไปตามสัญญาจะเข้าไปดูในระยะต่อไป เพราะต้องการกวาดล้างสินค้าประเภทนี้ออกไปจากระบบให้หมด พร้อมกันนี้ยังได้ขอความร่วมมือกับบริษัทที่จัดส่งพัสดุทั้งหมดได้มีการแจ้งข้อมูลผ่านระบบ และสามารถอายัดสินค้าได้หากพบว่าสินค้าดังกล่าวนั้นมีความน่าสงสัยหรืออาจเข้าข่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย
ขณะเดียวกันยังเตรียมประสานงานกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยตรวจสอบการทำธุรกรรมทางบัญชีของผู้ที่ทำการซื้อ-ขายโอนเงิน หากพบว่ามีความผิดอาจนำไปสู่การอายัดเงินในบัญชีธุรกรรมและในกรณีที่มีการซื้อ-ขายสินค้าผ่านทางโทรศัพท์ก็เตรียมประสานข้อมูลกับทางผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพื่อหาทางเข้าไปตรวจสอบการซื้อขายสินค้าผ่านทางโทรศัพท์ หรือไลน์ ด้วย
“ในการเข้าไปตรวจสอบนั้น สคบ.จะขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานโดยเน้นไปที่เรื่องของข้อมูลในระบบไอทีทั้งหมดเพื่อนำเข้ามาจัดการเพื่อจะแก้ไขปัญหาการลักลอบขายสินค้าต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมายได้ นอกจากนี้ยังประสานส่งข้อมูลให้กับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ให้ดำเนินการจับกุมผู้ที่ขายสินค้าที่มีความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย”
แต่เรื่องนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่เรื่องหนึ่งที่สำคัญและต้องหาทางแก้ คือกรณีของสินค้าที่ผู้ขายเปิดเว็บไซต์อยู่ในต่างประเทศหากจะดำเนินการปิดเว็บไซต์คงเป็นเรื่องลำบาก จึงต้องประสานขอข้อมูลมาก่อนว่าจะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้สคบ.เคยออกคำสั่งเกี่ยวกับการห้ามขายสินค้าอันตรายมาแล้วหลายฉบับแต่ก็ยังพบว่ามีการลักลอบขายอยู่อย่างแพร่หลายตามอินเทอร์เน็ต และช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า และตัวยาบารากู่และตัวยาของบุหรี่ไฟฟ้า ที่สคบ.ประกาศห้ามขายหรือห้ามให้บริการไปแล้วเช่นเดียวกับสินค้าประเภทอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ