เป็นข่าวดีที่ทำให้หลายคนได้ร้องไชโย โดยเฉพาะกับบรรดาผู้บริโภคทั้งที่เคยประสบเหตุหรือยังไม่เคยต้องปรบมือกันรัว ๆ กับผลของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่เห็นชอบต่อร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ซึ่งเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการให้ความคุ้มครองสิทธิกับผู้ซื้อรถยนต์ และ โทรศัพท์มือถือ
ถ้าจะว่าไปแล้วเรื่องของรถยนต์ก็ดี หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว โดยเฉพาะกรณีรถยนต์ป้ายแดงประเภทเพิ่งถอยมาใหม่เอี่ยมแต่ใช้งานไปยังไม่ทันไรก็มีเหตุสร้างปัญหาต่อเจ้าของ จนต้องนำเข้าอู่ซ่อมกันจนระอา
ปรากฏการณ์ที่ว่านี้มีอยู่ให้เห็นกันบ่อยครั้งในสื่อต่าง ๆ กระทั่งในบางครั้งเราอาจจะได้เห็นการทุบรถโชว์ผ่านสื่อก็เกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆกรณี สุดท้ายก็ต้องแห่กันไปร้องต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความเป็นธรรม ซึ่งผลที่ได้อาจจะเป็นที่ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง และที่สำคัญแต่ละปีจะมีเรื่องการร้องเรียนค่อนข้างเยอะมากเสียด้วยในการเรียกค่าเสียหาย
เช่นกรณีที่มีตัวแทนกลุ่มผู้ใช้รถยนต์มาสด้า 2 ดีเซล Sky Active รุ่นปีผลิต 2015-2016 รวมรุ่นย่อย ของบริษัทมาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 22 ราย พร้อมหัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
กรณีพบอาการผิดปกติของรถในเรื่องความปลอดภัย จากปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ ได้แก่อาการผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือน อาการรั่วซึมของโช้คด้านหลัง และอาการเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้นในช่วงความเร็ว 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยอาการจะปรากฏครั้งแรกในช่วงเลขไมล์ 20,000-70,000 กม. และคงอาการแบบลักษณะนี้จนปัจจุบัน
หรือจะเป็นกรณีที่ผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ดกว่า 250 คน เข้าร้องเรียนต่อสคบ.-สภาทนายความ ให้ช่วยฟ้องร้องกรณีรถยนต์มีปัญหาบกพร่องทั้งเกียร์กระตุก-เครื่องดับกระทันหัน เกรงว่า เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและยังได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการติดสติ๊กเกอร์คำว่า “เหยื่อรถยนต์” และ “เหยื่อเกียร์กระตุก” รอบคัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลาย ๆกรณีที่เกิดขึ้นจากปัญหาการใช้รถ กระทั่งในบางครั้งผู้เสียหายต้องนำไปโพสต์ในโลกโซเชียลก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง
สำหรับ ร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า มีรายละเอียดเช่นไร นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่าเป็นการเริ่มต้นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสิทธิในการเรียกร้องกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าที่ซื้อไปแล้วชำรุดบกพร่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นการคุ้มครองสินค้าที่มีความซับซ้อน อาทิ รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ ที่มีปัญหาหลังจากซื้อออกจากร้านไป เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันบ่อยครั้งว่าสินค้านั้นชำรุดก่อนหรือหลังซื้อ
“สคบ.อยากคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสิทธิในการเรียกร้อง กรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าที่ซื้อไปแล้วชำรุดบกพร่องเพื่อจะได้ไม่มีภาพของคนไปทุบรถหน้าสคบ.เหมือนที่ผ่านมา โดยกฎหมายมีสาระสำคัญกับการดูแลคนที่เช่าซื้อหรือคนที่ผ่อนสินค้า จะมีสิทธิในการฟ้องร้องเหมือนกับผู้ที่เป็นคนซื้อสินค้า เพราะแต่เดิมคนกลุ่มนี้จะเป็นผู้เรียกร้องไม่ได้”
นายณัฐพรยังได้ระบุว่าที่ผ่านมากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่บังคับใช้ในปัจจุบันเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีพื้นฐานจากเสรีภาพของบุคคลตามการแสดงเจตนารัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า และอาศัยช่องว่างดังกล่าวเอาเปรียบผู้บริโภค ภาครัฐจึงต้องกำหนดกรอบความรับผิดชอบของเรื่องดังกล่าวออกมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในลักษณะนี้ให้หมดไป
สำคัญของกฏหมายฉบับนี้ก็คือ การกำหนดให้ผู้บริโภคที่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อมีสิทธิ์เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อ สามารถใช้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ให้เช่าซื้อที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจกรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง ให้สถาบันการเงินในฐานะผู้ซื้อและเจ้าของกรรมสิทธิ์โอนสิทธิทั้งหลายให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคที่เป็นเพียงผู้ใช้สินค้าได้รับสิทธิเรียกร้องกับผู้บายได้โดยตรง
และเมื่อสินค้าเกิดการชำรุดและผู้บริโภคใช้สิทธิเรียกร้องไปแล้ว ต่อมามีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าแต่ยังคงชำรุดอยู่ก็ให้ผู้บริโภคมีสิทธิขอลดราคากับผู้ขาย หรือยกเลิกสัญญาซื้อขายได้ และให้ถือเป็นการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปด้วย
หากสินค้าเสียหายภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันส่งมอบให้สันนิษฐานว่าสินค้าชำรุดมาตั้งแต่วันส่งมอบ พร้อมกำหนดสิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจกรณีสินค้าชำรุด เช่นการเรียกค่าเสียหายต้องให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้าได้ 2 ครั้ง หากยังชำรุดอยู่ก็ให้ผู้บริโภคบอกเลิกสัญญา ขอลดราคา เรียกค่าเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ และให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกว่าจะซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องได้
ส่วนกรณีที่สินค้านั้นผ่านการซ่อมแล้วแต่ปรากฏว่ายังไม่ดีขึ้น หากผู้บริโภคต้องการจะบอกเลิกสัญญา หรือลดราคา หรือเรียกค่าเสียหาย ต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบล่วงหน้า 7 วัน โดยข้อเรียกร้องนี้จะมีอายุความ 2 ปี สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้หลังผ่านครม.แล้วจะส่งต่อไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบรายละเอียดของกฎหมายต่อไป
ขณะที่พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการสคบ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาสคบ.ได้ประชาพิจารณ์กฎหมายไปแล้ว โดยเห็นว่าสินค้าที่น่าจะมีปัญหาอาจเป็นสินค้าไฮเทคที่ตรวจสอบเองไม่ได้ โดยที่เห็นได้ชัดที่สุดคือรถยนต์ และโทรศัพท์มือถือที่ใช้แล้ว 3-6 เดือนเกิดการชำรุดขึ้นมา ซึ่งน่าจะเข้าข่ายในกฎหมายฉบับนี้
และนี่คือข่าวดี ๆที่นำมาฝากสำหรับผู้บริโภคให้ได้รับทราบถึงกฏหมายฉบับใหม่ที่กำลังจะคลอดออกมาในการคุ้มครองสิทธิต่อสินค้า โดยเฉพาะกับรถยนต์และโทรศัพท์มือถือ งานนี้คงต้องปรบมือรัว ๆให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในฐานะต้นเรื่องที่นำเสนอ