เป็นประเด็นที่เชื่อว่าอยู่ในความสนใจของใครต่อใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จากกรณีที่หจก.ธนกฤตพร เครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจให้เช่าอาคารเพื่อที่อยู่อาศัย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 1006/2561 โดยระบุว่าคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาและสคบ.ร่วมกันออกประกาศสคบ.เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2561 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยให้เหตุผลในการฟ้องร้องว่าเป็นการคุ้มครองเฉพาะผู้บริโภคแต่ฝ่ายเดียว จนเกินความเป็นจริง และเกินความสามารถที่ผู้ประกอบการฯจะปฏิบัติตามได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.ฏ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ.2542 เนื่องจากไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงที่หลากหลายของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมทั้งเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการฯที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และจะขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งระงับการบังคับใช้ประกาศสคบ. เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2561 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด
ประเด็นแห่งการฟ้องร้องในครั้งนี้หากผลออกมาว่า ทางศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับยับยั้งการบังคับใช้ประกาศฉบับดังกล่าว แน่นอนว่าผลที่จะตามมาย่อมตกกับหน่วยงานอย่างสคบ.ชนิดที่คงไม่อาจปฏิเสธ และอาจจะลุกลามไปยังประเด็นอื่น ๆ ก็เป็นได้ ด้วยเพราะสคบ.เป็นหน่วยงานที่จะต้องให้ความคุ้มครองต่อผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม
และแล้วทันทีที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องต่อการฟ้องร้องจากกรณีดังกล่าว งานนี้จึงเรียกเสียงเฮให้กลับมาได้อีกครั้งทั้งในส่วนของผู้บริโภคที่จะได้รับอานิสงค์จากประกาศฉบับดังกล่าว รวมไปจนถึงหน่วยงานต้นเรื่องอย่างสคบ. เมื่อศาลพิเคราะห์และลงความเห็นว่าการที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา กำหนดให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เพื่อให้สคบ.ใช้เป็นมาตรการในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคจากการทำสัญญาเช่าให้บรรลุผล และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ซึ่งหากศาลมีคำสั่งทุเลาตามคำร้องก็จะทำให้สคบ.ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของผู้เช่าในฐานะที่เป็นผู้บริโภคจากการตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในสัญญาเช่า และจะทำให้สคบ.ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ทันท่วงที เนื่องจากปัจจุบันมี เพียง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริฏภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 เป็นกฎหมายฉบับเดียวที่ใช้คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคก่อนการทำสัญญา ส่วนพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เป็นมาตรการที่ใช้คุ้มครองผู้บริโภคหลังจากมีสัญญาแล้วเท่านั้น
ดังนั้นการมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว จึงเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานและการบริการสาธารณะของ สคบ. ส่วนการออกประกาศดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาต่อไป
ถึงบรรทัดนี้คงเป็นเครื่องที่ชี้ชัดและอธิบายความได้เป็นอย่างดีถึงเหตุและผลที่ศาลปกครองกลางได้มีคำตัดสินต่อกรณีดังกล่าว และเพื่อสำทับในเหตุและผลของเรื่องดังกล่าวไปฟังคำชี้แจงอธิบายผ่านสื่อจากพล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หลังจากที่เกิดกรณีการฟ้องร้องว่า ตนต้องการรู้ว่ามีประเด็นใดอีกที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศครั้งนี้ ขอให้แจ้งมาที่สคบ. ที่ผ่านมาก่อนออกประกาศฉบับนี้สคบ.ได้ทำประชาพิจารณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องถึง 2 ครั้ง ไม่ใช่อยู่ดี ๆออกประกาศเอง สคบ.มีอำนาจออกประกาศตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคได้
พร้อมชี้แจงต่อว่ากรณีที่ประกาศฉบับนี้ระบุว่า ห้ามคิดค่าน้ำค่าไฟเกินอัตราที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บจากผู้ประกอบการต้องบอกว่าสคบ.ไม่ได้กำหนดค่าน้ำ ค่าไฟเอง สิ่งที่สคบ.บอกคือเจ้าของห้องเช่า อพาร์ตเมนต์จะเก็บค่าน้ำ ค่าไฟเกินกว่าที่การประปาฯและการไฟฟ้าฯเรียกเก็บจากคุณไม่ได้ ฉะนั้นการทำง่าย ๆ คือคุณจ่ายไปเท่าไหร่ก็ไปเก็บจากคนเช่าเท่านั้น อย่าเก็บเกิน และเจ้าของหอพักจะกำหนดราคาเองไม่ได้เพราะเท่ากับขายน้ำ ขายไฟฟ้าเองมันผิดกฎหมาย
ส่วนกรณีเจ้าของห้องเช่า อพาร์ตเมนต์ ต้องการติดมิเตอร์ไฟฟ้าและมิเตอร์น้ำแยกตามห้อง แต่การไฟฟ้าฯและการประปาฯไม่ติดตั้งให้ เลขาธิการสคบ. ยืนยันว่าเดิมการไฟฟ้าฯไม่ติดตั้งให้แต่ขณะนี้ติดตั้งให้แล้ว ซึ่งการแยกมิเตอร์จะเป็นผลดีต่อเจ้าของห้องเช่าที่จะไม่ถูกคิดค่าบริการในอัตราก้าวหน้า ส่วนประเด็นที่ว่าเจ้าของห้องเช่าให้ข้อมูลว่าเพิ่งไปติดต่อการไฟฟ้า แต่กลับถูกแจ้งว่าไม่สามารถติดมิเตอร์แยกห้องให้ได้ เพราะห้องเช่าแห่งนั้นติดไฟฟ้าแบบขยายเขตตามที่การไฟฟ้าฯกำหนด จึงทำตามประกาศฉบับนี้ของสคบ.ไม่ได้ เลขาสคบ. กล่าวว่าขอรับประเด็นนี้ไปพิจารณา แต่ความจริงในประกาศของ สคบ.ไม่ได้บังคับให้แยกมิเตอร์ แต่ห้ามไม่ให้คิดค่าบริการเกินจริงเท่านั้น
พล.ต.ต.ประสิทธิ์ยังได้กล่าวอีกว่า สำหรับการคิดค่าเช่าล่วงหน้าที่ห้ามเก็บเกินกว่า 1 เดือนนั้น ผู้ให้เช่าสามารถเรียกเก็บค่าประกันความเสียหาย 1 เดือนรวมกับค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือน และค่าเช่าของเดือนที่อยู่อีก 1 เดือน รวม 3 เดือนเช่นเดิม “เท่าที่สคบ.ตรวจสอบห้องเช่าตั้งแต่ประกาศมีผลบังคับใช้ ห้องเช่าส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตามเช่นการเก็บค่าไฟฟ้าได้รับการสอบถามว่า ปกติบิลค่าไฟจากการไฟฟ้าฯมักจะมากลางเดือนแต่การเรียกเก็บเงินจากผู้เช่าจะเป็นช่วงต้นเดือน จึงขอนำค่าไฟ 3 เดือนย้อนหลังมาเฉลี่ยเป็นอัตราค่าไฟกลางได้หรือไม่ ซึ่ง สคบ.ก็เห็นว่ารับฟังได้”
และนี่คือประเด็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น จากกรณีการฟ้องร้องระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานของรัฐอย่างสคบ.จากกรณีการประกาศบังคับใช้ กฎหมายเรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2561 กระทั่งมีผลคำตัดสินออกมาตามที่ได้รายงานข่าวไป จากนี้ไปคงเป็นประเด็นจากการบังคับใช้ว่ากฎหมายดังกล่าวได้รับการปฏิบัติเสมอภาคและเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป