เป็นประเด็นใกล้ตัวอีกเรื่องที่น่าสนใจจึงอยากนำมาฝากถึงผู้บริโภคทุก ๆ คน กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยคณะกรรมการว่าด้วยฉลากได้ออกประกาศให้เคสโทรศัพท์มือถือ-แท็ปเล็ตบางชนิดเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องติดคำเตือนบนฉลาก โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศฉบับที่ 41 พ.ศ.2561 กรณีเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง
ความจริงก่อนหน้านี้ได้มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาหารือเพื่อหาแนวทางในการป้องกัน ดังจะเห็นจากวารสารของสคบ.ประจำเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ได้มีการเผยแพร่กรณีเรื่องดังกล่าวไว้ โดยระบุตอนหนึ่งว่า “สมาร์ทโฟนในปัจจุบันนอกจากจะเป็นอุปกรณ์ในการสื่อสารแล้วยังถือเป็นเครื่องประดับประจำกายอีกชิ้นหนึ่ง………ด้วยราคาโทรศัพท์ที่มีหลากหลายตั้งแต่หลักพัน – หลักหมื่น จึงทำให้ผู้บริโภคต้องหาซื้อเคสโทรศัพท์มาใส่เพื่อป้องกันการกระแทกหรือรอยที่อาจเกิดจากการใช้งาน ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายชนิด เช่นชนิดใสไม่มีลวดลาย ชนิดมีฝาสำหรับปิดหน้าจอ และชนิดที่มีการนำสารเคมีที่เป็นของเหลวมาบรรจุอยู่ภายใน หรือรูปแบบต่าง ๆ ตามแฟชั่น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
พร้อมกันนี้ในการหารือยังได้ระบุถึงเหตุผลที่ต้องกำหนดถึงมาตรการในการล้อมคอกปัญหา ว่าจากข้อมูลผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์พบว่า ของเหลวที่บรรจุอยู่ภายในเป็นสารเคมี เช่น เดคเคน (Decane) โนเนน (Nonane) เฮปเทน (Heptane) และกรดออกซาลิค (Oxalic acid) หากสินค้าดังกล่าวเกิดการชํารุดและสารเคมีรั่วไหลออกมา อาจส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าดังกล่าว จึงเห็นสมควรกําหนดให้เคสโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ตที่มีการนําสารเคมีที่เป็นของเหลวมาบรรจุอยู่ภายในเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
ล่าสุดจึงได้ฤกษ์คลอดประกาศฉบับที่ 41 พ.ศ.2561 ขึ้น โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นบทบัญญัติในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยกําหนดการแสดงฉลากของสินค้าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงในสาระสําคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น คณะกรรมการว่าด้วยฉลากจึงออกประกาศดังนี้คือ
ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “อุปกรณ์สําหรับห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ตที่มีการนําสารเคมีที่เป็นของเหลวมาบรรจุอยู่ภายใน” หมายความว่าอุปกรณ์ที่ใช้สําหรับห่อหุ้มโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ตที่มีสารเดคเคน (Decane) โนเนน (Nonane) เฮปเทน (Heptane) และกรดออกซาลิค (Oxalic acid) หรือสารอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์เป็นกรดมาบรรจุไว้ภายใน
ข้อ ๒ ให้อุปกรณ์สําหรับห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ตที่มีการนําสารเคมีที่เป็นของเหลวมาบรรจุอยู่ภายในเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
ข้อ ๓ ฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลากตามข้อ ๒ ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ แห่งประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากเรื่องลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๑ และให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ไว้ในฉลากด้วย
สำหรับคําเตือนต้องระบุว่า “อันตรายหากของเหลวรั่วไหล” ทั้งนี้ข้อความที่เป็น “คําเตือน”ต้องใช้ตัวอักษรที่มีสีต่างจากสีพื้นผิวผลิตภัณฑ์ และมีขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่นแสดงไว้ในลักษณะคงทนที่ผลิตภัณฑ์
ข้อ ๔ ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดสามสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
พลตํารวจตรี ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์
ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก
แน่นอนว่าจากประกาศฉบับดังกล่าวที่ระบุไว้ในข้อ ๓ ว่าฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลากตามข้อ ๒ ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลากเรื่องลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๑
นั่นหมายความว่าผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้นำเข้าเพื่อขายต้องจัดทำฉลากสินค้า โดยมีรายละเอียดประกอบด้วยชื่อประเภทสินค้า ชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปี ที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากสินค้าหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ รวมถึงเอกสารแผ่นพับต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังได้มีการระบุโทษไว้ว่า กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจรายใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเป็นผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้าต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำและปรับ