จากนั้นข่าวคราวในเรื่องดังกล่าวก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆ ไม่มีใครรู้หรือคาดเดาได้ว่า “สภาผู้บริโภคแห่งชาติ”ที่หลาย ๆ คนต่างเฝ้ารอจะมีกำหนดคลอดออกมาเมื่อไหร่ อย่างไร แต่ที่หลายรับรู้รับทราบว่านี่คือสิ่งดี ๆ ที่จะมีส่วนช่วยผู้บริโภคให้ได้รับการคุ้มครองจากผู้ประกอบการที่เอาเปรียบ
ล่าสุด ( 6 มิ.ย.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะตามกฎหมายฉบับนี้ได้เปิดทางให้บุคคลธรรมดา หรือผู้บริโภคตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปสามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเองในลักษณะเหมือนกับเอ็นจีโอ เช่นตั้งเป็นชมรมผู้ใช้เครื่องสำอาง หรือชมรมอื่น ๆ ที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในเรื่องต่าง ๆ อีกด้วย
“การคุ้มครองผู้บริโภคขณะนี้ถ้ามีเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. กำกับดูแลคงไม่ทั่วถึงเพราะปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือมีนวัตกรรมเกิดขึ้นหลายอย่าง ทางสคบ.เลยยกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งการทำงานนั้นจะมีบทบาทสำคัญกับการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคให้เกิดผลมากขึ้น มีการเฝ้าระวังปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น ส่วนการทำงานของสคบ.เองนั้นจะไม่มีการซ้ำซ้อนกัน นั่นคือสคบ.จะเป็นหน่วยงานของรัฐคอยสนับสนุน ส่วนกฎหมายฉบับนี้จะมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติหรือสอบ. ขึ้นมาเป็นของผู้บริโภคเอง และสามารถทำงานควบคู่กันได้”
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ได้กำหนดให้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป หรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน มีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคได้ ขณะเดียวกันตามกฎหมายยังกำหนดให้ตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ มีคณะกรรมการจากคณะกรรมการเขตพื้นที่จำนวน 10 คน ซึ่งเลือกกันเองจากผู้แทนองค์กรของผู้บริโภคในแต่ละเขตพื้นที่ และกรรมการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอีก9 คน ทั้งด้านการเงินการธนาคาร ด้านขนส่งและยานพาหนะ ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ด้านบริการสาธารณะ และด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้
ทั้งนี้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ถือเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบาย และการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมและการรวมตัวกันของผู้บริโภคในการจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ และแจ้งข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือเกิดความเสียหายกับผู้บริโภค พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการเผยแพร่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค
ขณะเดียวกันยังสามารถให้คำปรึกษากับผู้บริโภคและองค์กรของผู้บริโภค เกี่ยวกับการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการ และยังให้ความเห็นข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณาของครม. และหน่วยงานของรัฐในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค สามารถตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำที่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และรายงานไปยังหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ และยังสามารถดำเนินคดีแทนผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคที่ถูกฟ้องจากการใช้สิทธิแทนผู้บริโภคได้ด้วย
นอกจากนี้ในการจัดตั้งสำนักงานคือสอบ.นั้นจะมีรูปแบบเป็นนิติบุคคล ที่มีความเป็นอิสระที่ไม่ใช่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ทางด้านธุรการ และทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาของคณะกรรมการชุดใหญ่ พร้อมกันนี้สำนักงานยังได้รับเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้โดยตรงเป็นรายปีจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งรัฐบาลจะจัดสรรให้ในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการบริหารงานต่อไป