ยังคงเข้มอย่างต่อเนื่องสำหรับเรื่องของการโฆษณาสำหรับทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกรณีของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก่อนหน้านี้ได้จัดทำโครงการประชาพิจารณ์ เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง)กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2534) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กทม.ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
ล่าสุด นายศรัณย์ รักษ์เผ่า ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณากำลังจับตาโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ที่มีการลดแลกแจกแถม รวมทั้งการชิงโชคชิงรางวัลในช่วงของการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งพบว่าในช่วงนี้ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายมักจัดแคมเปญให้ผู้บริโภคร่วมสนุกชิงรางวัลต่าง ๆ
ส่วนใหญ่มักจัดทำโฆษณาไม่ถูกต้องตามกฎหมายของสคบ. โดยเฉพาะการกำหนดรายละเอียดของการชิงรางวัล ดังนั้นเมื่อสคบ.ตรวจพบจะมีการแจ้งเตือนให้ดำเนินการแก้ไข แต่หากรายใดไม่เร่งแก้ไขให้เรียบร้อยจะถือว่ามีความผิด กำหนดโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท แยกเป็นการปรับเจ้าของสินค้า 30,000 บาท และผู้เผยแพร่โฆษณาอีก 30,000 บาท
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อความโฆษณาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในกรณีการโฆษณาขายสินค้าหรือบริการที่มีการระบุหรือประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการแถมพก หรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ประกวดให้รางวัล การให้ของแถม หรือสิทธิประโยชน์โดยให้เปล่า ซึ่งความผิดที่พบมากที่สุดคือผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้ระบุรายละเอียดของวัน เดือน ปี เวลา สถานที่กำหนดให้เสี่ยงโชค หรือสถานที่กำหนดจับรางวัล
รองลงมาคือระยะเวลาการเริ่มต้นจนสิ้นสุดของการจัดเคมเปญแจกโชค ที่จะต้องระบุวันเวลาให้ชัดเจนรวมไปถึงไม่มีการระบุถึงประเภทของรางวัล จำนวนและมูลค่า โดยที่ผ่านมาสคบ. ได้มีการออกคำสั่งแจ้งไปยังผู้ทำผิดรวมแล้วกว่า 150บริษัท
“ที่ผ่านมาสคบ.มีหน่วยตรวจสอบเฝ้าระวังโฆษณา โดยตรวจสอบข้อความรวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ หากพบว่าการโฆษณาผิดเรื่องไหนก็ให้ปรับแก้ไขอะลุ้มอล่วยให้ ซึ่งในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้พบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจหลายรายทำการโฆษณาให้ผู้บริโภคร่วมชิงรางวัลเป็นจำนวนมาก สคบ.จึงกำลังตรวจสอบดูว่ามีรายใดบ้างที่ทำผิด ส่วนใหญ่มักแจ้งข้อความบางรายการไม่ถูกต้อง เช่นการเขียนข้อความว่า ร่วมชิงโชคได้ตั้งแต่วันนี้-31 พ.ค.61 ซึ่งการเขียนในลักษณะอย่างนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะถ้าให้ถูกต้องตามกฎหมายต้องเขียนเวลาให้ชัด คือตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2561- 31 พ.ค. 2561 ถึงจะถูกต้อง ซึ่งรายละเอียดอย่างนี้ สคบ.จะแจ้งให้แก้ไขต่อไป”
ขณะที่พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สคบ.ยังได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับโฆษณา 2 ฉบับ คือ ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เรื่องการโฆษณาขายสินค้าหรือบริการที่มีการระบุหรือประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการแถมพก หรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ประกวดให้รางวัล การให้ของแถม หรือสิทธิประโยชน์โดยให้เปล่า และร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 7 เรื่องการโฆษณาขายห้องชุดในอาคารชุด และการโฆษณาขายที่ดินโดยการแบ่งขายเป็นแปลงย่อยไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาขายที่ดิน หรือขายที่ดินพร้อมทั้งอาคาร
ทั้งนี้ในการทบทวนกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ สคบ.เห็นว่าปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าและบริการทั่วไป และผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ได้พยายามที่จะพัฒนาและนำเสนอขายสินค้า โดยการจัดทำโฆษณาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นการดึงดูดใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการนำเรื่องการจัดรายการส่งเสริมการขายมาใช้ ควบคู่กับการจำหน่ายบ้านหรือห้องชุด เช่น การให้ส่วนลด แจกโทรศัพท์มือถือ หรือให้เฟอร์นิเจอร์ครบชุดเป็นของแถม
“เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่สคบ.กำลังมีแนวคิดอยู่ เช่นการโฆษณาแล้วตามกฎหมายกำหนดให้แจ้งรายละเอียดยิบย่อยมากมายเป็นตัวหนังสือเล็ก ๆ แสดงลงไปในโฆษณาด้วยนั้นอาจทำให้ผู้บริโภคอ่านไม่ทันต่อไปก็อาจปรับปรุงใหม่อย่างเช่นให้มีคิวอาร์โค้ดติดไว้ในโฆษณาให้ผู้บริโภคกดเข้าไปดูเงื่อนไข.