ช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ใครที่ติดตามการให้สัมภาษณ์ของผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจประเทศพร้อมระบุตอนหนึ่งว่า จากการสำรวจสถานภาพแรงงาน พบว่ายังมีหนี้ครัวเรือนในระดับสูงอยู่ โดยพบว่าแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่ร้อยละ 97 ยังคงมีภาระหนี้สิน ร้อยละ 62.6 ไม่มีการเก็บออม โดยมีภาระหนี้สินเฉลี่ยอยู่ที่ 131,479.89 บาทต่อครัวเรือน
ที่ Bee Voice หยิบประเด็นดังกล่าวมาคุยอีกครั้งเพื่อจะสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของหนี้สินซึ่งจะมีทั้งที่เป็นหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ แต่ที่จะกล่าวถึงก็คือเรื่องของหนี้ในระบบจากการเป็นหนี้บัตรเครดิตของคนไทย จากข้อมูลเครดิตบูโรเมื่อสิ้นปี 2559 ระบุว่ามีลูกหนี้บัตรเครดิตที่อยู่ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโรทั้งสิ้น 19.07 ล้านบัญชี
โดยในจำนวนนี้คิดเป็นลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล (ผิดนัดชำระไม่จ่าย) 888,214 บัญชี หรือมูลค่าหนี้เอ็นพีแอลที่ 53,593 ล้านบาท เติบโต 10.8% จากปีก่อนหน้า สัดส่วนมูลค่าเอ็นพีแอลต่อยอดการใช้จ่ายของบัตรเครดิตขยับขึ้นไปอยู่ที่ 13.2%ส่วนสินเชื่อบุคคลมีฐานข้อมูลลูกหนี้ทั้งสิ้น 15.49 ล้านบัญชี เป็นเอ็นพีแอลที่ 2,143,745 บัญชี มูลค่าหนี้เอ็นพีแอลราว 166,241 ล้านบาท
ขณะที่สถานการณ์ในปีนี้จากบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดมีการคาดว่าปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบ (ทั้งแบงก์ และ นอนแบงก์) มีโอกาสเติบโตไม่ต่ำกว่า 6.0% ในปี 2561 โดยในส่วนของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของระบบธนาคารพาณิชย์อาจเติบโตขึ้นประมาณ 5.5%
เพราะสถานการณ์ในการใช้บัตรเครดิตดังที่ได้กล่าวในข้างต้น Bee Voice จึงขอนำบทความดี ๆ จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นข้อคิดก่อนที่คุณจะตัดสินใจคิดเป็นหนี้บัตรเครดิตสักใบหรือหลาย ๆ ใบกับการสร้างแห่งอนาคต แน่นอนว่าก่อนที่
จะสมัครทำบัตรเครดิต เราก็ต้องมีคุณสมบัคิที่พร้อม ซึ่งธุรกิจบัตรเครดิตจะอยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติของคนที่จะได้รับการอนุมัติดังนี้คือ
มีรายได้จากแหล่งที่มาต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือ 180,000 บาทต่อปี หรือมีเงินฝาก เป็นหลักประกันเต็มวงเงินของบัตรเครดิตที่อนุมัติ หรือมีเงินฝากประจำกับธนาคารไม่น้อยกว่า 5000,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือมีเงินฝากออมทรัพย์ ลงทุนในตราสารหนี้หรือลงทุนในกองทุนรวมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน
เมื่อผ่านคุณสมบัติที่ต้องพร้อมและเพียงพอต่อการสมัคร ก็ถึงขั้นตอนในการประเมินตนเอง ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ทางสคบ.ระบุไว้ 5 ข้อด้วยกันดังนี้ 1. ก่อนทำบัตรเครดิตจะต้องมีวินัยในตนเอง ระมัดระวังในการใช้จ่ายอย่าใช้จ่ายเกินความสามารถในการชำระเงิน ก่อนที่จะใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าหรือบริการต้องคิดว่าได้ใช้วงเงินสินเชื่อไปเท่าไหร่แล้ว เป็นหนี้สินอยู่จำนวนเท่าไหร่ และรายได้ที่ได้รับของเราเท่าไหร่ สามารถชำระคืนได้เท่าไหร่ ซึ่งบางรายเผลอใช้เกินตัว เห็นสิ่งใดก็อยากได้จนไม่คำนึงถึงหนี้สินที่กำลังตามมา
2.ควรศึกษาข้อมูลการใช้งานให้เข้าใจก่อน อาจจะถามจากผู้ให้บริการธนาคาร คอลเซ็นเตอร์หรือศึกษาด้วยตนเองผ่านคู่มือที่ได้จัดส่งมาให้ ตัวอย่างเช่นการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิตสามารถทำได้แต่ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมทันทีตั้งแต่มีการกดเงิน และวิธีการคิดที่ซับซ้อนกว่าการใช้ซื้อสินค้าทั่วไป เป็นต้น ซึ่งในการใช้บัตรเครดิตแต่ละกรณีจะต่างกัน ควรศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ
3.เลือกชำระเต็มจำนวนแทนการชำระขั้นต่ำเมื่อมีกำหนดจากธนาคารให้ชำระหนี้ของบัตรเครดิต แล้วก็ควรชำระให้เต็มจำนวนดีกว่า ถ้าหากเราชำระแบบไม่เต็มจำนวนจะทำให้มีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งการชำระบัครเครดิตนี้ข้อดีคือจะช่วยดูการใช้จ่าย เมื่อรู้อย่างนี้แล้วควรใช้หนี้บัตรเครดิตให้ครบจำนวนและควรใช้จ่ายชำระหนี้ให้ตรงวัน
4.เลือกบัตรให้เหมาะสมกับการใช้งานซึ่งบัตรเครดิตมีมากมายหลายประเภท แต่ละบัตรถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งาน เช่นประเภทการใช้บัตรดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ที่คิดว่าไม่สามารถใช้จ่ายเงินสดได้เต็มจำนวนในทุกรอบบัญชี หรือบัตรเครดิตสะสมแต้มสำหรับผู้ใช้ที่ชอบการซื้อสินค้าและบริการ เพื่อแลกแต้ม ของรางวัล หรือเงินสดคืนหลังการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต
5.มีบัตรเท่าที่จำเป็นและคิดให้มากก่อนใช้ การมีบัตรเครดิตหลายใบเกินความจำเป็นนั้น หากมีวินัยในการใช้แล้ว ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่หากไม่มีวินัยและฟุ่มเฟือยมากไปก็จะทำให้ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น เกิดหนี้สินเพราะบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเพราะฉะนั้นเมื่อทำบัตรเครดิตมาแล้วก็ควรคิดก่อนใช้จ่ายทุกครั้ง เพื่อความสบายใจของเราเอง
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงขอแนะนำคือหนึ่งในสิทธิที่ผู้บริโภคพึงได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค นั่นคือสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ซึ่งในการทำสัญญาใช้บัตรเครดิตนั้นได้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2544 เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เช่นในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บัตรเครดิตทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน และการยกเลิกสัญญาหรือการใช้บัตรชั่วคราวผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเหตุผลให้ทราบ