ปฏิบัติการ “ลองของ”เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานภาครัฐจากแก๊งค์มิจฉาชีพมักมีให้เห็นกันอยู่เสมอเป็นประจำบนหน้าสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะการแอบอ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปหลอกลวงต้มตุ๋นผู้เสียหาย เฉกเช่นกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เดือดร้อนจนทำให้ผู้บริหารองค์กรอย่าง พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเก้าอี้ร้อน ต้องรีบออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า
โดยระบุว่ากรณีที่มีการแอบอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่สคบ. เข้ามาทำทีว่าเป็นการลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านเครื่องเสียงและร้านค้าอื่น ๆ ในบริเวณจังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ตาก พิษณุโลก อุตรดิถต์ ฯลฯ ซึ่งแต่ละครั้งจะมีบุคคลและกลุ่มบุคคลแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในร้านค้าพร้อมทั้งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักคณะกรรกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. เข้าไปยึดสินค้าหลายรายการพร้อมแจ้งว่าที่ร้านขายสินค้าผิดหลายอย่าง บางชิ้นเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย
โดยแจ้งว่าสินค้าไม่มีฉลาก คู่มือไม่ใช่ภาษาไทยไม่มีตรามาตรฐานหรือมอก. จากนั้นได้มีการข่มขู่ว่าจะต้องเสียค่าปรับกว่า 1 แสนบาท และได้เชิญตัวเจ้าของร้านไปพูดคุยหว่านล้อมเรียกเงินแลกกับการที่ไม่ต้องถูกดำเนินคดีโดยเรียกเงินในเบื้องต้นจำนวน 30,00 – 50,000 บาท นั้น
พล.ต.ต.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่าทางสคบ.ขอชี้แจงถึงขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าดังนี้
- การลงพื้นที่ตรวจสอบทุกครั้งจะมีหนังสือแจ้งให้ทางร้านทราบล่วงหน้า หรือมีหนังสือให้เจ้าหน้าที่นำไปแสดงต่อร้านค้าอย่างเป็นทางการทุกครั้ง
- เจ้าหน้าที่จะแสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เห็นอย่างชัดเจน
- เจ้าหน้าที่ สคบ.จะสวมเครื่องแบบชุดปฏิบัติการสีน้ำเงินเข้ม มีป้ายชื่อเจ้าหน้าที่และสำนักงานฯ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน
- ในการตรวจฉลากสินค้าทุกครั้งจะมีเอกสารบันทึกผลการตรวจ ซึ่งจะแจ้งว่าสินค้าชิ้นใดมีการจัดทำฉลากถูกต้องหรือไม่ถูกต้องในข้อใด ซึ่งจะแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจลงนามในเอกสารเพื่อรับทราบทุกครั้ง
5.กรณีมีการจัดทำฉลากสินค้าที่ไม่ถูกต้อง ทางสคบ.จะมีหนังสือเชิญให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้ามา
ชี้แจงยังที่ทำการ สคบ. เพื่อทำความเข้าใจและแก้ไขให้ถูกต้อง หรือพิจารณาเสนอคณะอนุกรรมการ
เพื่อเปรียบเทียบปรับต่อไป
“ทั้งนี้ในการตรวจสอบฉลากสินค้าทุกครั้งจะไม่มีการยึด อายัดสินค้า ยกเว้นเป็นสินค้าที่เป็นสินค้าอันตรายที่มีคำสั่งห้ามขายหรือสงสัยว่าอาจเป็นอันตราย ซึ่งจะจัดเก็บสินค้าไปเพียงที่จำเป็นเท่านั้นโดยจะไม่มีการเปรียบเทียบปรับหรือเรียกเงินใดๆ ณ สถานที่จำหน่ายหากผู้ใดพบเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ให้ถ่ายภาพหรือเป็นคลิปไว้และแจ้งให้ สคบ.ทราบทาง สายด่วน สคบ.1166”
อย่างไรก็ตามในส่วนของแนวทางในการจัดทำฉลากของสินค้าประเภทชิ้นส่วน อุปกรณ์ หรือสินค้าที่มีขนาดเล็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ทางสคบ.ยังได้ชี้แจงรายละเอียดดังนี้คือ
กรณีการจัดทำฉลากประเภทชิ้นส่วน อุปกรณ์ หรือสินค้าที่มีขนาดเล็กที่ไม่สามารถจัดทำฉลากสินค้าไว้ที่ตัวสินค้าได้ ให้สินค้าประเภทดังกล่าวสามารถจัดทำฉลากไว้ในคู่มือหรือเอกสารหรือบัญชีราคาสินค้า (Price list) หรือป้ายติดตั้งไว้ ณ จุดที่ขายได้โดยให้สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน ทั้งนี้ต้องเป็นภาษาไทยหรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.. ชื่อสินค้า
2.ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต
- กรณีนำเข้าต้องระบุชื่อและที่อยู่ของผู้สั่งหรือผู้นำเข้า และระบุประเทศผู้ผลิต
- ขนาดหรือมิติหรือปริมาณหรือน้ำหนักของสินค้า
- วิธีใช้
- ข้อแนะนำในการใช้
- คำเตือน (ถ้ามี)
- วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุการใช้หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน
- ราคาระบุหน่วยเป็นบาท
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคยังได้จัดทำตัวอย่างฉลากสินค้าประเภทชิ้นส่วน อุปกรณ์ หรือสินค้าที่มีขนาดเล็ก แนบท้ายข้อมูลแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย