เพราะปัจจุบันการประกอบการทางด้านอาหารได้เติบโตและพัฒนาไปในช่องทางที่หลากหลายส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมามากมาย ดังจะเห็นได้จากหลาย ๆ กรณีที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่การสูญเสียทั้งแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในฐานะผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
การให้การคุ้มครองต่อผู้บริโภคของหน่วยงานภาครัฐจึงถือเป็นภารกิจสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะหน่วยงานหลักอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่จะมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบต้นทางของการโฆษณาชวนเชื่อของผลิตภัณฑ์ก่อนสู่สายตาผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจต่อประชาชนทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้มีหนังสือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่นตัวแทนผู้นำเข้าและผู้ผลิตอาหารเสริมในประเทศไทย ตลอดจนสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมถึงแนวทางการกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
Bee Voice ขอใช้พื้นที่ตรงนี้นำเรื่องราวบางส่วนบางตอนจากการประชุมมาถ่ายทอดให้ผู้บริโภคได้เห็นภาพพร้อมกับสาระดี ๆ ที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะไม่เคยรู้หรือได้ยินได้ฟังกันมาก่อนถึงบทบาทการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีต่อการดำเนินการต่อการโฆษณาที่เป็นกฎหมาย
โดย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่าทุกคนจะเริ่มต้นการตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายอาหารจากการโฆษณา เพราะว่าของที่ผิดกฎหมายร้อยเปอร์เซ็นต์เริ่มต้นจากการโฆษณาผิด แล้วโฆษณาผิดที่อ้างว่า “กินแล้วผอมทันที” “กินแล้วขาวทันที” “กินแล้วเสริมสมรรถภาพทางเพศทันที” การจะทำให้เห็นตามโฆษณานั้นได้ก็คือลักลอบใส่ยาเข้าไปด้วย คือมันมาคู่กันระหว่างโฆษณากับของโปรดักส์ที่ผิดกฎหมาย
แต่การตามจับที่ง่ายที่สุดตรวจสอบง่ายที่สุดตอนนี้ ก็เรียนให้ทราบว่าเราจะโฟกัสโฆษณาที่ผิดกฎหมายและโอเวอร์แล้วตอนนี้เรามีทีมงานที่ช่วยกันสอดส่องเยอะมาก ทั้งเครือข่ายที่เป็นเอ็นจีโอ เครือข่ายผู้บริโภคแล้วก็คู่แข่งพวกคุณเอง อันนี้สำคัญมากคู่แข่งของตัวคุณเองคือในวงการนี้คุณก็รู้อยู่ว่ามีผู้ประกอบการเยอะมากก็มีการจับจ้องโดยคู่แข่งทางการค้าด้วยกันเอง เพราะฉะนั้นจึงถือว่าทุกคนที่มาประชุมในวันนี้เป็นคนที่ต้องการที่จะทำการให้ถูกกฎหมาย
ถ้าคุณจะอยู่สายดำคุณคงไม่เข้าประชุมวันนี้หรอก อันนี้คืออยู่สายขาวสายที่ต้องการทำให้ถูกต้อง อีกอย่างหนึ่งก็อาจจะถูก Force ว่าต้องทำถูกต้องแล้วล่ะจากที่เคยทำผิดมาก็ต้องทำให้ถูกเพราะตอนนี้อย.ส่งคนไปนั่งที่กสทช.คอยมอนิเตอร์ทีวียุคดิจิตอลทุกวัน แล้วก็เอากฎหมายของทั้งอย.และกสทช.มารวมกันเพื่อจะดำเนินการอย่างเข้มข้น
ซึ่ง 15 สไลต์จะพูดจากนี้ไปก็จะเป็นการปรับจูนความเข้าใจเรื่องการโฆษณาอาหารกันอีกครั้งหนึ่งว่า อบรมแล้วอะไรที่ทำได้ทำไม่ได้ มาดูสไลต์กรณีของผลิตภัณฑ์ที่เราเรียกกันว่าลีน ( lyn) ที่มีข่าวว่ามีคนกินเข้าไปแล้วเสียชีวิตถึง 4 รายแล้ว ตกลงมันเป็นผลิตภัณฑ์ขออนุญาตจากอย.ไว้หรือไม่ ตกลงออกไปแล้วมันเป็นยังไง เถื่อนหรือไม่เถื่อนยังไง ขอยกกรณีของผลิตภัณฑ์ที่เราเรียกติดปากว่า Lyn เพราะว่าเป็นกรณีที่คลาสิคนิดหนึ่ง
“ดิฉันไม่อยากแก้ตัวให้อย.นะคือบางทีเราก็น้ำท่วมปาก ซึ่ง Lyn เขามาขอกับเราชื่อ “แอลวายเอ็น” ถามหน่อยว่าคุณมาขอแอลวายเอ็นดิฉันให้หรือไม่ก็ต้องให้ เขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลยตอนยื่นมาขอเสริมอาหารชื่อแอลวายเอ็นขออนุญาตสูตรถูกต้องเป็นเสริมอาหาร ชื่อที่ตั้ง ผู้ผลิตถูกต้องทุกอย่างถูกต้องหมด ไม่มีเหตุอันใดเลยที่จะไม่อนุญาต แต่พออนุญาตไปแล้วปรากฎว่าคุณไม่ได้ไปใช้ชื่อ “แอลวายเอ็น” คุณกลับไปใช้ว่า “ลีน” ซึ่งมันเป็นคำพ้องเสียงกับ Lean ที่แปลว่าทำให้ดูผอมลง ซูบลง เป็นคำพ้องเสียงที่ขอแอลวายเอ็น”
อยากเรียนว่าตอนขอเสริมอาหารเราไม่ให้คำว่า “Block”,“Burn”,“Break”,“Build”ไม่ได้เลย คำเหล่านี้เป็นคำต้องห้ามแต่คุณไปเขียนที่กล่องเองว่า “บล็อก (Block)” “เบิร์น”(Burn), เบรก (Break),บิ้ว (Build) นี่คือการขอไว้แบบหนึ่งแล้วก็ไปทำอีกแบบหนึ่ง
ภญ.สุภัทรา ยังกล่าวต่อว่ากำลังจะบอกว่าเสริมอาหารตอนนี้ตัวโปรดักส์มีหลายแบบมาก 1.ทำเถื่อนเลยไม่ขอกับอย.เลย เถื่อนนี่พอเวลาไปทำฉลากคำว่า“เถื่อน”นี่โปรดักส์ง่าย ๆคำว่า “สลิม”ทั้งหลาย อย.ไม่เคยให้เพราะฉะนั้นโปรดักส์ที่มีคำว่า“สลิม”ลงท้ายสลิม (Slim) แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายแน่นอน แต่ผิดกฎหมายมันก็จะมีหลายแบบก็คือไม่มีเลขอย.เลย คนซื้อไม่เห็นเลขอย.ก็ผิดกฎหมาย 2.ไปเอาเลขของคนอื่นมาสวม อันนี้ก็จะเยอะ อันที่ 3 ก็คืออุปโลกเลขอย.ขึ้นมาเองดูเหมือนมีเลขอย.แต่เลขนี้พอเวลา Search ไปแล้วไม่เจอเลข ฉะนั้นมันก็จะมีหลายลักษณะ กรณีเรื่อง Lyn ยกตัวอย่างโปรดักส์ให้เห็นว่าขอแบบหนึ่งแล้วไปทำอีกแบบหนึ่ง
ทีนี้มาดูเรื่องโฆษณาซึ่งโฆษณาที่เราเจอตอนนี้ปัญหาที่พบมันมี 7 เรื่องหลัก ๆ ด้วยกัน อันที่ 1.ก็คือ “ขอ” ขอโฆษณาแต่ขอแล้วไม่ตรงอย่างที่ใจได้อย่างที่ใจอยาก คือมันเป็นความจริงว่าขอกับอย.ได้คำไม่ถูกใจเราเลย ขอแล้วคำมันไม่ตรงใจเราที่ไปโฆษณาแล้วขายไม่ออก เพราะฉะนั้นก็โฆษณาไม่ตรงตามที่อนุญาต ให้คำแบบหนึ่งคุณไปใช้คำอีกแบบหนึ่ง ให้รูปแบบหนึ่งคุณไปใช้รูปอีกแบบหนึ่ง ขอไว้แต่ทำไม่ตรงตามที่ขอ
อันที่ 2 คือไม่ขอเลยโดยเฉพาะพวกที่กล่าวอ้างว่า“รักษาโรค”“บำบัดโรค”“แสดงสรรพคุณที่โอเวอร์”พวกนี้ไม่ขอเลย อันที่ 3 คือเอาข้อความที่ไม่อนุญาตไปใช้แทนข้อความที่ได้รับอนุญาต ทุกท่านที่มีประสบการณ์มาขอนุญาตโฆษณากับสำนักอาหารจะเห็นว่าอันไหนที่เราไม่ให้ เราจะขีดปากกาแดงแล้วเซ็นต์ชื่อกำกับ ที่ขอมาทุกหน้าจะขีดแดงหมดทุกหน้าบางคนก็เอาที่ขีดแดงไปโฆษณา ซึ่งบางครั้งอาจเป็นความเข้าใจผิดก็ได้คิดว่าให้ไปด้วยในขณะนี้ บางคนก็เอาบางข้อความที่ไม่อนุญาตไปสอดไส้ในแผ่นพับให้เข้าใจว่าได้รับอนุญาตแล้ว ซึ่งแผ่นพับก็ถือว่าเป็นการโฆษณาต้องขออนุญาตเช่นเดียวกัน บางคนคิดว่าเราไม่ตรวจตัวแผ่นพับหรือคิดว่าแผ่นพับไม่ใช่การโฆษณาก็จะเอาข้อความที่ไม่อนุญาตไปใส่ในแผ่นพับอันนี้ก็จะเจออยู่
อันที่ 5 โฆษณาโอ้อวดเกินจริงอันนี้ได้กล่าวไปแล้ว รักษาโรค บำบัด บรรเทา ป้องกันโรค ล้างพิษ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ อันที่ 6 อันนี้มาแรงก็คือใช้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพราะว่าเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมมาโฆษณาหรือมาพูดให้ความรู้โดยเชื่อมโยงกับตัวผลิตภัณฑ์อันนี้ก็ทำไม่ได้ อันที่ 7.ก็คือแสดงตัวอย่างของผู้ป่วยโดยสัมภาษณ์ Before and After ก่อนและหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้ง 7 ข้อที่ได้กล่าวมานี้ผิดหมด
ภญ.สุภัทรา ยังได้กล่าวถึงกรณีที่นำดารามารีวิวสินค้าผิดหรือไม่ โดยระบุว่ากรณีเป็นดาราถือโปรดักส์อยู่หน้าอินสตาแกรมของตัวเองเป็นการถือเฉย ๆ ไม่กล่าวอ้างสรรพคุณใด ๆ เลยถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าถือปุ๊บแล้วบอกว่าใช้แล้วดีค่ะ ไม่ผิดแต่คนที่รับผิดชอบคำพูดนั้นคือดารา เกิดดาราคนนั้นไม่ได้ใช้แล้วบอกว่าใช้แล้วดีค่ะแล้วก็ไป Declare กับคนอื่นเอาเอง แต่ถ้าเกิดว่าตัวนั้นมาปุ๊บแล้วโฆษณาในปัจจุบันก.ข.ค.งที่ถืออยู่ถือว่าเป็นการโฆษณาต้องอนุญาตก่อน กรณีรีวิวของดาราบนเฟสบุ๊ค อินสตาแกรมมันมาพร้อมกับการโฆษณาแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นมันเลี่ยงไม่ได้ต้องขออนุญาตจากอย.ก่อนมีการแสดงสรรพคุณแล้วร้อยทั้งร้อยถ้าคุณดูก็คือโอเวอร์เคลมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็คือเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย
ทีนี้อยากจะเรียนต่อว่านับต่อแต่นี้ไปการดำเนินการเรื่องการโฆษณาอาหารของหน่วยงานภาครัฐ อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า ตอนนี้เรามีการบูรณาการการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงานจะเป็นการทำงานเชิงรุก ตอนนี้ก็มีทั้งอย. ซึ่งอย.ในที่นี้ก็จะเป็นหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ดิฉันเรียกว่ามี 3 S เอสแรกก็คือ Smart Regulator คือหน่วยงานรัฐโดยมีอย.เป็นแกนหลัก อันที่สองคือผู้บริโภค (Smart Consumer) อันที่สามคือทุกท่านที่นั่งในที่นี้คือผู้ประกอบการและสื่อสารมวลชน เราคงต้องมาช่วยกันในการที่จะทำให้การโฆษณาอาหารแล้วก็ผลิตภัณฑ์อาหารโดยเฉพาะเสริมอาหารที่ขายอยู่ในขณะนี้มันอยู่ในร่องในรอยมากขึ้น
“ดิฉันรู้ดิฉันเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคล้ายกับเครื่องสำอาง คือถ้าไม่โฆษณามันขายไม่ออกถูกมั้ยคะ ไม่เว่อร์นิด ๆ ขายไม่ได้มันมีการแข่งขันกันสูง แล้วมันเป็นชื่อมันบอกอยู่แล้วเสริมอาหารคือมันไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อชีวิตแต่มันเสริมเข้ามา เพราะฉะนั้นถ้าไม่โฆษณาก็ขายไม่ออกเหมือนเครื่องสำอาง ดิฉันเข้าใจว่ามันต้องมีการส่งเสริมการขาย แต่การส่งเสริมการขายแบบไหนที่มันอยู่ในกรอบกติตาที่พอเหมาะพอสม คือด้วยความที่ตอนนี้โซเชียลมีเดียมันแรงมากทุกคนเป็นเจ้าของสื่อ ทุกคนโฆษณาได้หมดมันก็เลยแบบมั่วเพราะฉะนั้นคงต้องถึงเวลาที่เราคงต้องช่วยกัน เพราะว่าทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ดิฉันคิดว่าทุกคนตั้งใจดีที่อยากจะโฆษณาให้ถูกต้อง
เพราะฉะนั้นทั้ง 3 ส่วนคืออย. ผู้บริโภคแล้วก็ผู้ประกอบการรวมทั้งสื่อมวลชนคงต้องช่วยกัน อย.เองตอนนี้เราจะจัดเกรดผู้ประกอบอาหาร คำว่าผู้ประกอบการอาหารก็คือตีความรวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจผลิต นำเข้า แล้วก็ผู้ประกอบการทางด้านเอเยนซี่ที่มาขออนุญาตโฆษณาจากเราด้วย แล้วก็เครือข่ายสื่อสารมวลชนในการดำเนินการเฝ้าระวัง ขณะเดียวกันตอนนี้เราจะยกระดับการจัดการเรื่องการโฆษณาอาหารขึ้นไปอีกสเต็ปหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายให้ฟังว่าปัจจุบันนี้เราทำอะไร แล้วต่อจากนี้ไปเราจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจังมากขึ้นอย่างไร โดยร่วมงานกับหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีกสทช.ทำงานร่วมกับเราอย่างเข้มข้น
ส่วน Smart Consumer ตอนนี้คนแจ้งเบาะแสทางเพจดอกจิกก็ดี ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ดีตอนนี้ทางอย.ส่งทีมไปจับไม่หวั่นไม่ไหว แจ้งมาเยอะมาก ฉะนั้นตอนนี้ผู้บริโภคแล้วก็คนที่เป็นคู่แข่งของซึ่งกันและกันสวมรอยเป็นผู้บริโภคอันนี้ก็เยอะมากในการแจ้งเบาะแสของเรา เพราะฉะนั้นตอนนี้จะมีคนแจ้งเบาะแสเรื่องการโฆษณาที่ไม่ถูกต้อง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วอันตราย ผลิตภัณฑ์ที่มีการรีวิวแล้วก็โอเวอร์เคลมเข้ามาที่เราจำนวนมาก สุดท้ายคือผู้ประกอบการแล้วก็สื่อสารมวลชนทุกท่านคงต้องมาช่วยกันส่งเสริม ร่วมมือกันในการรับผิดชอบในเรื่องของการประกอบธุรกิจ แล้วก็การโฆษณา เพราะฉะนั้นในวันนี้เป้าหมายหลักก็คือทำความเข้าใจเรื่องการขออนุญาตเรื่องโฆษณาอาหาร แล้วก็มาตรการของอย.ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วก็จะมาชี้แจงให้ฟังว่าโฆษณาแบบไหนทำได้ แบบไหนทำไม่ได้
ภญ.สุภัทรา กล่าวต่อว่าต่อไปนี้การโฆษณาที่เข้าข่ายแสดงสรรพคุณ คุณประโยชน์ โฆษณาเหล่านี้ต้องขออนุญาตจากอย.ก่อนซึ่งทุกท่านคงรู้กันดี การเข้าข่ายในการแสดงสรรพคุณ คุณประโยชน์ก็ได้แก่แน่นอนผลิตภัณฑ์ของคุณดีสามารถทำอะไรได้บ้าง ก็ถือว่าเป็นการแสดงสรรพคุณ คุณประโยชน์ กล่าวอ้างคำสุขภาพเช่นผสมวิตามินเอลงไปบอกว่าช่วยในการมองเห็นจะต้องขออนุญาตจากอย.ก่อน โฆษณาลักษณะการให้ข่าวสัมภาษณ์ รายการสดเพราะฉะนั้นทีวีดิจิตอลช่วงเที่ยงคืนช่วงห้าทุ่ม ช่วงเวลาที่ไม่ใช่ไพร์ไทม์ช่วงเวลาที่ไม่มีละครคุณก็จะเป็นทีวีไดเร็คตลอดเลย ก็จะมานั่งโฆษณาขายของกันนั่งสัมภาษณ์โน้นนี่นั่นส่งคนมาอันนั้นคือผิดตลอด ผิดขั้นแรกเลยก็คือโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตยังไม่ได้พูดถึงเรื่องโฆษณาโอ้อวดเกินจริงนะคะผิดหมด ไม่ได้ขออนุญาตทั้งหมด
โฆษณาแฝงเชิงบทความ บางคนก็ฉลาดก็คือทำบทความคุณประโยชน์ของสารโน่นนี่นั่นไว้หน้าหนึ่ง ส่วนอีกหน้าหนึ่งก็เป็นโฆษณาโปรดักส์แต่อ่านรู้แล้วล่ะว่ามันเชื่อมโยงกัน อันนั้นเราถือว่าคุณมีนัยที่จะโฆษณาต้องขออนุญาตก่อนเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกันโฆษณาไม่ได้แสดงภาพไปที่ผลิตภัณฑ์แต่เชื่อมโยงทำให้เข้าใจว่าเป็นประโยชน์ของการค้าผลิตภัณฑ์ พวกนี้กฎกติกาเหล่านี้มันเกิดขึ้นตอนแรกมันไม่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นเพราะเรามีประสบการณ์ เพราะว่าคนโฆษณาหาช่องว่างกันมาตลอดให้บุคลากรทางการแพทย์มาสัมภาษณ์คุยกับวิชาการแล้วขายโปรดักส์อีกหน้าหนึ่งแล้วไปเชื่อมโยงกัน ทำให้เราต้องออกกฎกติกานี้มา เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะโฆษณาด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ต้องขออนุญาตอย.ก่อน
ทีนี้อย.ก็บอกว่าถ้าคุณไม่แสดงสรรพคุณ คุณประโยชน์ คุณไม่ต้องขออนุญาตอย.ก่อนคือโฆษณาได้เลยโดยที่ไม่ต้องมีเลขฆอ. ตอนนี้มันเกิดความสับสนอยู่ บางทีไปหาบางช่องบางสื่อก็บอกว่าต้องมีฆอ. ๆ เพราะฉะนั้นมันมีข้อยกเว้นกรณีที่คุณโฆษณาโดยไม่แสดงสรรพคุณอะไรเลยไม่ต้องขอฆอ.ก่อน ทีนี้การไม่ต้องขอฆอ.มันมี 2 ลักษณะคือมาขอกับอย.คุณมีเจตนาจะขอแต่อย.บอกว่าไม่ต้องขอ แค่สแต๊มว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพิจารณาแล้วเนื้อหาโฆษณานี้ไม่เข้าลักษณะต้องได้รับอนุญาตจากอย.เนื่องจากไม่มีการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ลงชื่อ ตำแหน่ง วันที่ คุณก็เอาอันนี้ไปแสดงที่สื่อที่คุณจะลงโฆษณาบอกว่าอย.ดูแล้วบอกว่าไม่เข้าข่ายการแสดงสรรพคุณให้โฆษณาได้เลยโดยที่ไม่ต้องมีเลขฆอ. หรืออย.พิจารณาแล้วเนื้อหาตรงไหนที่ถูกตัดข้ามข้อความ หลังจากนี้แล้วไม่เข้าลักษณะต้องให้ได้รับอนุญาตจากอย.เนื่องจากไม่มีการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอย่างนี้ ๆ ก็ไม่มีเลขฆอ.ให้ เพราะฉะนั้นคุณถ้าได้รับหลักฐานอันนี้ แล้วข้อความแบบนี้ ก็สามารถที่จะโฆษณาได้เลยโดยที่ไม่ต้องมีเลขฆอ.
กรณีเมื่อสักครู่นี้คือไม่ต้องมีเลขฆอ.แต่ถ้าเกิดว่าคุณแสดงสรรพคุณ คุณประโยชน์ คุณภาพของอาหาร เราจะมีใบอนุญาตโฆษณาอาหารซึ่งจะมีตราครุฑอยู่ตรงกลางเด่นเป็นสง่าแล้วก็มีเลขฆอ.อยู่ นอกจากมีใบนี้แล้วเรายังมีเอกสารแนบท้ายคำขออนุญาตอยู่ด้วย ยืนยันประทับตรายางแสดงเลขที่ใบอนุญาตตรงในกับใบอนุญาตทุกอย่าง ด้านล่างขวามือจะมีคิวอาร์โค้ต ถ้าส่องคิวอาร์โค้ตก็จะมีรายละเอียดในคิวอาร์โค้ตให้ด้วย
ในคิวอาร์โค้ตจะมีรายละเอียดเลยว่าเงื่อนไขของการออกใบอนุญาตโฆษณาอาหารนี่มันมีเงื่อนไขอะไรบ้าง เลขที่ใบอนุญาตอะไร ชื่อบริษัทอะไร ที่ตั้งอะไร ชื่อผลิตภัณฑ์อะไร ผลิตภัณฑ์ที่ขออนุญาตเลขสารบบอาหารคือเลขอะไร สื่อที่ขออนุญาตไว้คุณขอในสื่อไหน วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อินเตอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ หรืออะไร จำนวนหน้าโฆษณากี่หน้า ใบอนุญาตนี้ใช้ได้ถึงวันที่เท่าถึงวันที่เท่าไหร่ไหร่ อันนี้ถ้าส่องนะคะ ขณะเดียวกันนอกจากมีใบนี้แล้วเรายังมีเอกสารแนบท้ายคำขออนุญาตโฆษณาด้วย เอกสารแนบท้ายมันก็จะมีชื่อผู้พิจารณา ผู้อนุญาต และเงื่อนไขการโฆษณาตัวแดง ๆ อันนี้คือตัวอย่างของใบอนุญาตโฆษณาที่ถูกต้อง
อยากเรียนว่าเดิมเวลาที่เราดำเนินการกับการโฆษณาอาหารที่ไม่ถูกต้อง อย.มีความกรุณาปราณีกับผู้โฆษณาอาหารมาโดยตลอดคือสำนักอาหารดำเนินคดีกับผู้โฆษณาอาหารด้วยมาตรา 41 มาโดยตลอด คือการโฆษณาอาหารผิดมันมีบทลงโทษอยู่ 2 มาตราคือมาตรา 40 กับมาตรา 41 ซึ่งมาตรา 41 ก็คือโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 5000 บาท อย.ดำเนินคดีด้วยมาตรานี้มาตลอดคือมาตรา 41 ก็คือดูว่าคุณมีเลขฆอ. โฆษณาสรรพคุณโดยไม่ได้ขออนุญาตเราดำเนินคดีแค่นี้เอง
มาตรา 41 เรียกมาปรับที่อย.แล้วดำเนินคดี เหนื่อยนะผู้รับผิดชอบเรื่องโปรดักส์ซึ่งคนที่เลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้คือใครรู้มั้ยในเรื่องโปรดักส์ เรื่องอาหาร ผู้ผลิต ผู้นำเข้า เจ้าของโปรดักส์เลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้เลย คนที่จะโดนกฎหมายเรียกเป็นคนแรกเลยเวลาเกิดอะไรกับโปรดักส์นั้น คือผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า โดนไปเสียค่าปรับแล้วหนึ่งนะผู้ผลิต 2. สื่อตรวจเจอช่องไหน หนังสือพิมพ์อะไร นิตยสารอะไร หน้าอะไรฉบับไหนโดน 3. ถ้าปรากฎว่าในสื่อนั้นบุคคลใดเกี่ยวข้องเช่นคนไหนเป็นคนพูด ดาราคนไหนเป็นพิธีกร คนนั้นก็จะโดน กรณีที่เป็นนิตบุคคลก็จะโดนทั้งในนามบริษัทและก็กรรมการบริษัท เรานี่ดำเนินคดีการกระทำผิดกฎหมายการโฆษณาด้วยมาตรา 41 ตลอด
แต่นับจากนี้ไปเราก็จับมือกับกสทช.คุมไม่ไหวแล้วแค่มาตรา 41 เราก็จะเอามาตรา 40 เข้ามาด้วย มาตรา 40 นี่จะแรงกว่า 41 ซึ่งมาตรา 41 คือแค่โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่ 40 ก็คือโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายความว่ากรณีที่เราไปตรวจเจอโฆษณาอาหารอันหนึ่งไม่มีเลขฆอ.โดนมาตรา 41 แล้วเห็นว่าโฆษณานั้นเป็นเท็จหลอกลวง เช่นโฆษณาโสมสกัดแล้วบอกว่ารักษาโรคมะเร็งได้รักษาโรคนี่นั่นได้ โดนดำเนิคดีมาตรา 40 ด้วยไม่ใช่เล่นงานเฉพาะมาตรา 41
ขณะเดียวกันกสทช.เขาก็เอาข้อมูลการโฆษณาว่าอย.ชี้มูลความผิดไปใช้ในกฎหมายเขา กสทช.เขาใช้มาตรา 31 วรรค 2 กรณีที่ผู้ประกอบการดำเนินการใด ๆ ที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรืออาศัยการใช้เครือข่ายหรือการทำงานอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญไม่ว่าใช้วิธีการใดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ กสทช.มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้ กรณีฝ่าฝืนปรับทางปกครองได้ไม่เกิน 5,000,000 บาทและปรับอีกวันละไม่เกิน100,000 บาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง
แต่ครั้งล่าสุดที่เราคุยกับกสทช.สมมติกรณีวันนี้อย.ไปนั่งอยู่กสทช.แล้วมอนิเตอร์โฆษณาทางทีวี ดิจิตอล แล้วก็โดนดำเนินคดีตามมาตรา 40 กับมาตรา 41 เรามีหนังสือกสทช. อย.ก็จะมีหนังสือเกี่ยวข้องทีวีดิจิตอลฉบับแรกก่อนเป็นการเตือนก่อนนะว่าคุณทำผิดตามกฎหมายของอาหารอย่างนี้ ๆ คุณไปดำเนินการเสียค่าปรับตามบทลงโทษแล้ว ขณะเดียวกันกสทช.ขอเตือนคุณอย่าทำผิดซ้ำ แต่ถ้าเกิดคุณทำผิดซ้ำคราวนี้เขาไม่ให้คุณแล้วนะ อันนี้คือมาตรการที่เราออกมานับตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.เป็นต้นมาที่มีการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างอย.กับกสทช.
ภญ.สุภัทรา ยังได้กล่าวในตอนท้ายถึงตัวอย่างข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณาอาหารว่า ทุกท่านคงรู้แล้วนะก็คือผลิตภัณฑ์ที่คุณใช้อยู่บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรคพวกลดคลอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต ลดไขมัน แก้ปวดหลังปวดข้อ บำบัดบรรเทา รักษาโรคหัวใจ โรคมะเร็ง เบาหวาน อัมพฤต อัมพาต ห้ามหมด หรือบล็อค เบิร์น บิ้ว อกฟูรูฟิต เสริมสมรรถภาพทางเพศ ล้างพิษ ผิวพรรณผ่องใส ไม่ได้เลยนะ ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ปาฏิหาริย์ วิเศษ ดีเลิศ ยอดเยี่ยม ไม่ให้เลยนี้ห้าม ถ้า Before and After คือ Before อ้วน After ผอม Before ผิวดำต่อมาขาว เยอะแยะมากมายที่ห้าม
หรือใช้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้ ใส่เสื้อกาวน์เป็นคุณหมอคนนั้นคนนี้มากล่าวอ้างไม่ได้ ในกรณีที่เป็นเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนอันนี้เขามีเงื่อนไขต้องพิเศษอีก เช่นเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนห้ามใช้ผู้แสดงอายุต่ำกว่า 3 ปี ทีนี้ตอนนี้เราได้สื่อสารไปยังผู้บริโภคโดยสื่อต่าง ๆ บวกกับผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแล้วก็เอ็นจีโอต่าง ๆ เรามีสินบนนำจับให้กับผู้บริโภคที่แจ้งเบาะแสการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย เมื่อใดที่อย.ปรับเท่าไหร่คุณก็ได้เปอร์เซ็นต์จากค่าปรับ ก็จะมีบางคนที่ได้อาชีพใหม่ในการเฝ้าโฆษณาให้เราด้วยก็จะได้เปอร์เซ็นต์ค่าปรับก็มีอยู่ เพราะว่าตอนนี้ช่องทางการร้องเรียนมีเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีเท่านี้ที่จะสื่อสารให้ทุกท่านเห็นภาพว่าเราจะจัดการเรื่องโฆษณาอย่างไรบ้าง