แม้ว่าการจับจ่ายผ่านระบบออนไลน์จะเพิ่มความสะดวกสบายให้ชีวิต แต่ในอีกด้านหนึ่งพบว่ายังคงมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกหลอกลวงจากบรรดาแก๊งค์มิจฉาชีพ หรือจากผู้ไม่ประสงค์ดี เรามีเรื่องราวดี ๆมาฝากกันอีกแล้วจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือที่รู้จักกันดีในนามของ ETDA สำหรับเทคนิคข้อควรปฏิบัติเมื่อต้องพบกับปัญหาจากการซื้อขายออนไลน์ ไปดูกันเลยเลยว่าเขาแนะนำอย่างไร
1.กรณีถูกลักลอบ หรือโจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิตระหว่างจ่ายค่าสินค้าออนไลน์
ปัจจุบันธนาคารจะมีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบในเรื่องการใช้งานบัตรเครดิตที่น่าสงสัย และจะติดต่อกับเราเพื่อยืนยันถึงการใช้งานทำให้ป้องกันปัญหาได้มาก อย่างไรก็ตามบางครั้งหน่วยงานเหล่านี้ก็อาจไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด ดังนั้นในฐานะเจ้าของบัตรเครดิตจึงควรตรวจสอบประวัติการใช้งานอยู่เสมอ หากพบรายละเอียดที่น่าสงสัยและไม่ได้เกิดจากการใช้งานจริง แนะนำว่าคุณต้องปฏิบัติตนดังต่อไปนี้
ประการแรก รีบติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อระงับการใช้และทำการออกบัตรใหม่ ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีกระบวนการด้านเอกสารที่แตกต่างกัน
ประการที่สอง ควรทำลายบัตรเก่าทิ้งไป โดยเน้นการทำลายในส่วนแถบแม่เหล็กและชิปบันทึกข้อมูลบนบัตร หลังจากได้ออกบัตรใหม่และยกเลิกบัตรเก่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ประการที่สาม ตรวจสอบกับทางธนาคารถึงการคืนเงินว่าสามารถทำได้หรือไม่ และต้องใช้หลักฐานอย่างไรในการยืนยันว่าการทำธุรกรรมซื้อขายที่เป็นปัญหานั้นไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของเราจริงๆ
ประการสุดท้าย ทำการลบข้อมูลบัตรเครดิตที่เคยบันทึกไว้บนเว็บไซต์หรือระบบต่างๆ ที่ช่วยในการซื้อของออนไลน์เพื่อเป็นการทำลายข้อมูลทั้งหมด
2.กรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่ไม่เป็นปัญหาใหญ่มากนัก เช่น ชำระค่าสินค้าแล้วแต่ได้รับสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ สินค้าแตกหัก หรือสินค้าไม่ครบถ้วน เป็นต้น สำหรับในข้อนี้มีข้อเสนอแนวทางในการปฏิบัติดังนี้คือ
– อ่านข้อกำหนดในเว็บไซต์ที่ขายสินค้าว่ามีนโยบายในการคืนสินค้า หรือแก้ปัญหาเหล่านี้หรือไม่ หากชี้แจงไว้ก็ให้ทำตามเพื่อแก้ปัญหา แต่ถ้าหากไม่ได้ชี้แจงก็ควรติดต่อไปยังผู้ขายผ่านช่องทางการติดต่อที่แจ้งไว้บนเว็บไซต์และเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ขายอาจรับผิดชอบโดยการคืนเงิน หรือการเปลี่ยนสินค้า
3.กรณีเกิดข้อพิพาทเป็นการทำผิดโดยตั้งใจของผู้ขาย นั่นคือผู้ซื้อจ่ายเงินแล้วแต่ผู้ขายไม่ส่งสินค้ามาให้ หรือส่งของอื่น ๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ได้สั่งซื้อไป ถือเป็นการแสดงถึงเจตนาที่ไม่ดีของผู้ขายอย่างชัดเจน สำหรับแนวทางในการปฏิบัติข้อนี้มีข้อแนะนำไว้คือ
-แจ้งความและการดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยหน่วยงานที่ควรติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาคือตำรวจ ซึ่งการทำผิดแบบนี้เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีรายละเอียดโดยย่อ ดังนี้
-ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
-พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
สำหรับประเด็นที่จะติดต่อแจ้งความกับทางตำรวจนั้น มีคำแนะนำให้ปฏิบัติไว้ดังนี้
ประการแรก รวบรวมเอกสารทุกอย่างที่เกิดขึ้นในการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นประกาศขาย หลักฐานการจ่ายเงิน หมายเลขบัญชีธนาคารในกรณีที่ใช้การโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้า ข้อความที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อช่วยยืนยันและสนับสนุนกับความผิดคดีเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน
ประการที่สอง เข้าแจ้งความในข้อหาฉ้อโกงประชาชน โดยอาจจะชี้แจงกับตำรวจว่าขอดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และรับใบแจ้งความกลับมา
ประการที่สาม นำใบแจ้งความไปติดตามหาที่อยู่ของผู้ขาย ในกรณีที่ผู้ขายไม่แจ้งที่อยู่ที่ชัดเจนไว้ เช่น หากผู้ขายประกาศขายในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง ก็นำใบแจ้งความไปติดต่อผู้ดูแลเว็บบอร์ดเพื่อตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของผู้ขาย เช่น IP Address และ ISP ที่ผู้ขายใช้ ซึ่ง ISP ก็สามารถค้นหาตำแหน่งของผู้ขายได้จาก IP Address นั่นเอง หรืออาจจะติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัญชีเพื่อขอข้อมูลที่อยู่ได้เช่นกัน
ประการที่สี่ นำหลักฐานเกี่ยวกับที่อยู่ที่ได้นี้ไปแจ้งกับตำรวจอีกครั้ง เพื่อให้ตำรวจดำเนินการจับกุม
ประการสุดท้าย เมื่อมีการจับกุมแล้ว ขั้นตอนที่เหลือคือขั้นตอนในชั้นศาล
อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือ อาจจะมีขั้นตอนอื่น ๆในการสืบหาหลักฐานอีก สิ่งสำคัญที่สุดคือเมื่อเราทำการซื้อสินค้าออนไลน์จากเว็บไซต์หรือผู้ที่มีความน่าเชื่อถือน้อย เราจะต้องบันทึกข้อมูล และหลักฐานไว้ทุกครั้งเพื่อการดำเนินคดี เพราะหากไม่ทำการบันทึกหลักฐานเหล่านั้นไว้ก็เป็นเรื่องยากที่จะดำเนินคดีได้
หลังจากที่ได้ทำการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ผลที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับหลักฐาน และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในส่วนของเราเองนั้นแม้ว่าเราจะเป็นผู้เสียหายแต่ก็ควรจะมีการเผยแพร่ความเสียหายนี้ให้กับผู้อื่นได้รับทราบ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาในอนาคต ทั้งปัญหาที่เกิดจากผู้ขายคนเดิมหรือผู้ขายคนอื่นๆ โดยช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่การฉ้อโกงในการซื้อขายสินค้าออนไลน์นี้ ทำได้ผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)ซึ่งมีขั้นตอนการร้องเรียน มีดังนี้
1.เข้าไปยังเว็บไซต์ http://complain.ocpb.go.th หากมีบัญชีผู้ใช้งานอยู่แล้วให้ทำการเข้าสู่ระบบ หากยังไม่มีบัญชีผู้ใช้งานให้ทำการลงทะเบียน
2.ทำการบันทึกข้อมูลตามปัญหาที่พบ เพื่อให้ทาง สคบ. ดำเนินการต่อไป
นอกเหนือจากการแจ้งข้อมูลผ่านเว็บไซต์ สคบ. แล้ว การเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น โซเซีลเน็ตเวริ์ก ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยในการกระจายข่าวสารได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้อื่นมีความระมัดระวังในการซื้อสินค้าออนไลน์และใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น รวมทั้งอาจทำให้ผู้ขายที่มีเจตนาไม่ดีเลิกล้มความตั้งใจไปด้วยก็เป็นได้
โดยสรุปแล้ว เมื่อเกิดปัญหาในการซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม สิ่งแรกที่ควรจะทำคือติดต่อ เจรจาต่อรอง และไกล่เกลี่ยกับผู้ขาย อย่างไรก็ตามบางครั้งการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอาจไม่เป็นผลก็ลองติดต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ กระทรวงไอซีที สายด่วน 1212 ซึ่งเป็นหน่วยงานให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายสินค้า/บริการออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องการฉ้อโกงเงินออนไลน์
ข้อมูลจาก –สนง.พัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. )หรือ ETDA โทร. 0-2142-1160