Bee Voice มีข้อมูลดี ๆมาเล่าสู่กันฟังอีกแล้ว เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากภาครัฐได้มีมาตรการในการจัดเก็บภาษีความหวาน เพื่อหวังแก้ปัญหาจากกรณีคนไทยติดหวาน โดยได้วางหลักเกณฑ์ต่อมาตรการทางภาษีไว้ว่าหากมีการผสมน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัม และ 10 ต่อ 100 มล. จะเก็บภาษีไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และ 25 ของราคาขายปลีก ตามลำดับ โดยเครื่องดื่มที่เสนอจัดเก็บภาษีประกอบด้วย น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลังและเกลือแร่ น้ำผลไม้และน้ำพืชผัก เครื่องดื่มชนิดผง เครื่องดื่มชนิดเข้มข้น ซึ่งในกรณีนี้รวมถึงเครื่องดื่มที่หวานตามธรรมชาติ ไม่ได้ใส่น้ำตาลเพิ่มด้วย
ล่าสุด นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า แม้ภาษีน้ำตาลจะมีการบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่ม แต่ผ่อนปรนให้เวลาดำเนินการปรับสูตรเป็นเวลา 2 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาทำเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยกันมากขึ้นเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีมากขึ้น เพราะหากเครื่องดื่มยิ่งมีปริมาณน้ำตาลในอัตรากรัมต่อ 100 มิลลิลิตรมากขึ้นก็ยิ่งเสียภาษีสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้การบริโภคน้ำตาลของคนไทยน้อยลง
แต่ปัญหาที่พบในขณะนี้ก็คือ เครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลมหรือชาเขียวที่เดิมทีมีน้ำตาลสูงอยู่แล้ว แม้จะมีการทำสูตรน้ำตาลน้อยลง แต่กลับมีการทำการตลาดโดยเฉพาะการชิงโชคเพื่อให้คนหันมาบริโภคมากขึ้น“เครื่องดื่มเหล่านี้เมื่อทำสูตรน้ำตาลน้อยก็เท่ากับเสียภาษีน้อยลง แต่การทำการตลาดโดยการชิงโชคถือเป็นการส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคเพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งทำให้มีรายได้มากขึ้น ประชาชนต้องรู้เท่าทันในเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากการกินหวานมาก ๆย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของโรคอ้วนและเบาหวาน ซึ่งภาครัฐก็พยายามทำให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลลดลง” นพ.วชิระ กล่าว
อย่างไรก็ตามถามว่าจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายห้ามชิงโชคเหมือนเครื่องดื่มชูกำลังในอดีตหรือไม่ นพ.วชิระ กล่าวว่าหากการชิงโชคในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากอย่าง ชาเขียวหรือน้ำอัดลมเป็นปัญหามาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมายควบคุมตรงนี้เหมือนเครื่องดื่มชูกำลังในอดีต ซึ่งกรมอนามัยในฐานะกรมวิชาการก็จะทำข้อมูลว่าสถานการณ์การชิงโชคของเครื่องดื่มเหล่านี้ส่งผลกระทบมากหรือไม่แค่ไหนก็อาจเสนอเป็นข้อมูลไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อพิจารณาออกประกาศห้ามการชิงโชคในเครื่องดื่มเหล่านี้ เหมือนกับที่กรมอนามัยเสนอกรมสรรพสามิตในการคุมภาษีน้ำตาลที่สำเร็จมาแล้ว ซึ่งนอกจากการมีกฎหมายบังคับใช้ ประชาชนก็ต้องตระหนักในเรื่องเหล่านี้ด้วยว่าไม่ควรรับประทานหวานมากเกินไปจึงจะดีที่สุด
รายงานข่าวยังระบุว่าปัจจุบันการชิงโชคของเครื่องดื่มอย่างชาเขียวและน้ำอัดลม มีการดึงศิลปินดาราชื่อดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ โดยมีการชิงโชคให้แจกทั้งรถยนต์ ทองคำ โทรศัพท์มือถือ หรือการไปเที่ยวร่วมกับศิลปินชื่อดังเหล่านั้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาบริโภคมากขึ้น เพื่อร่วมลุ้นชิงโชคในการได้รับรางวัล ส่วนการจัดเก็บภาษีน้ำตาลแม้จะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2560 แต่ได้ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการเป็นเวลา 2 ปี โดยจะเริ่มคิดอัตราภาษีตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2562 เป็นต้นไป
อนึ่งตลาดเครื่องดื่มในไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งหนึ่งปัจจัยหลักจากการเติบโตมาจากเครื่องดื่มที่มีรสหวานเนื่องจากคนไทยติดการทานหวาน โดยเทียบได้จากสถิติที่จำนวนคนเป็นโรคหวาน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2557 รวมถึงจำนวนผู้มีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.7 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 37.5 ในปี 2557 ภาครัฐจึงต้องการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมขอองผู้บริโภค ให้หันมาลดการทานหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น