Bee Voice มีเรื่องราวเตือนภัยมาฝากกันอีกแล้ว เป็นเรื่องของภัยใกล้ตัวที่หลายคนอาจจะประสบพบเจอ ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรไปติดตามกันเลย สืบเนื่องจากกรณีที่เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร นำโดย น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เดินทางไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.)เรียกร้องให้พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.แก้ปัญหากรณีที่ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐาน
โดยน.ส.มลฤดีระบุว่าจากการศึกษาวิจัยเมื่อปี 2558 โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ได้สุ่มสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กทม. 18 เขตจำนวนทั้งสิ้น 855 ตู้ พบว่ามีปัญหาดังนี้คือ
1.มีการขออนุญาตการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,117 รายไม่มีใบอนุญาตร้อยละ 91.76 2. สถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก ร้อยละ 76.3 เช่น ริมถนน ริมทางเท้า อยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขังร้อยละ 28.3 อยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะทำให้มีแมลงสาบ หนู แมลงวัน ร้อยละ 22 เป็นต้น ประการสำคัญคือมีการจัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขกับหน่วยงานที่เกี่ยวเช่น กรุงเทพมหานคร, สำนักอนามัย, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รวมถึงสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.) ผ่านมาแล้ว 2 ปีแต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
น.ส.มลฤดียังได้กล่าวต่อว่าจนมาถึงปี 2560 เครือข่ายฯได้ทำการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญซ้ำโดยได้ดำเนินการในกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขตพบว่าปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังคงไม่ได้รับการแก้ไขเพราะยังคงมีตู้น้ำดื่มที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกว่าร้อยละ 90 เครือข่ายจึงติดต่อและส่งข้อมูลรวมถึงข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกครั้งแต่ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงตัดสินใจทำหนังสือขอเข้าพบผู้ว่าฯกทม.เพื่อเรียกร้องให้กทม.เห็นความสำคัญของความปลอดภัยของผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในวงกว้าง
หลังจากส่งข้อมูลปี 2560 และข้อเสนอแนะไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งกลับไม่ได้รับการตอบรับและได้รับคำตอบว่าให้ติดต่อไปยังกทม.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สูงกว่า แต่เมื่อส่งจดหมายสอบถามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไปยังกทม.ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบ จึงต้องออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ โดยข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร คอบช. และ มพบ.มีดังนี้ 1.ต้องสั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตบังคับใช้ทางกฎหมายให้ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เพราะเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
2.สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ติดตั้งแล้วในเขตกรุงเทพมหานครว่าได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่ ถ้าตรวจพบว่าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้นยังไม่ได้รับใบอนุญาตฯให้เรียกมาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อสืบหาเจ้าของตู้ได้ หรือไม่มีผู้ใดแสดงความเป็นเจ้าของให้ดำเนินการรื้อถอนตู้ดังกล่าวทันที
3.สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตต้องทำสติกเกอร์วันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและวันเดือนปีที่ตรวจคุณภาพน้ำ และให้ผู้ประกอบกิจการลงบันทึกทุกครั้งที่หน้าตู้ให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน และ4.ขอให้สนับสนุนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเฝ้าระวังตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ
อย่างไรก็ตามล่าสุดมีความคืบหน้าต่อกรณีดังกล่าว เมื่อนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม. ออกมาระบุว่า ได้สั่งการให้สำนักอนามัยทำการสำรวจตู้น้ำหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นปัญหาที่ผู้ว่าฯกทม.กังวลถึงอันตรายของประชาชนจากการบริโภคน้ำดื่มที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งผลสำรวจพบว่าในปี 2561 นี้ กรุงเทพฯมีจำนวนตู้น้ำหยอดเหรียญรวม 3,964 ตู้ เป็นตู้ที่มีใบอนุญาต 160 ตู้ และเป็นตู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตถึง 3,804 ตู้ โดยพื้นที่ที่มีตู้กดน้ำหยอดเหรียญมากที่สุดคือเขตจตุจักรจำนวน 310 ตู้เขตลาดพร้าวจำนวน 295 ตู้ เขตยานนาวาจำนวน 214 ตู้ ส่วนสำนักงานเขตที่มีตู้กดน้ำหยอดเหรียญน้อยที่สุดคือเขตสัมพันธวงศ์จำนวน 11ตู้
“ที่ผ่านมาสำนักงานเขต ได้มีการออกหนังสือเรียกให้ผู้ประกอบการมาดำเนินการขอใบอนุญาตการประกอบกิจการติดตั้งตู้น้ำหยอดเหรียญตามกฎหมาย เนื่องจากถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขพ.ศ.2558 แต่ผู้ประกอบไม่ยินยอมมาชำระค่าธรรมเนียมเนื่องจากมีค่าธรรมเนียมที่สูง โดยตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1 ตู้ต้องเสียค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อปี” รองผู้ว่าฯ ระบุ
อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้สั่งการแจ้งทุกสำนักงานเขตให้ดำเนินการตามกฎหมายในตู้น้ำที่ติดตั้งไม่ได้รับอนุญาต ให้แจ้งผู้ประกอบการมาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายกรณีไม่สามารถติดต่อหาเจ้าของได้หรือไม่มีผู้ใดแสดงความเป็นเจ้าของให้ดำเนินการรื้อถอนตู้ดังกล่าวทันที ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายสาธารณสุขการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000บาท
นอกจากนี้กทม.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการยกร่าง ข้อบัญญัติฯทำให้ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญลดลงเพื่อเป็นการแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตเพิ่มมากขึ้น โดยหากมีการประกาศใช้จะทำให้ดูแลได้อย่างทั่วถึง และเป็นการจูงใจผู้ประกอบการให้เข้ามาในระบบเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลงอยู่ที่ 500 บาท ต่อ 1 ตู้ ต่อปีซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา
ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พบว่าคณะกรรมการว่าด้วยฉลากได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 31 (พ.ศ. 2553) เรื่องให้ตู้น้าดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยกำหนดให้ตู้น้าดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติต้องแสดงข้อแนะนำในการใช้ คำเตือนรวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆที่เป็นสาระสำคัญของตู้น้าดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ จะต้องมีการจัดทำฉลากสินค้าโดยระบุชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้า ชื่อผู้ประกอบการ และสถานที่ตั้ง ขนาด วิธีใช้
ข้อแนะนำในการใช้ต้องดูความสะอาดของหัวจ่ายน้ำ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้บริการจากตู้น้าดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีลักษณะไม่ถูกสุขอนามัย ต้องใช้ภาชนะที่สะอาดในการบรรจุน้ำ ต้องหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากตู้น้าดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีสีกลิ่นหรือรสผิดปกติ และไม่ควรนำภาชนะที่เคยบรรจุของเหลวชนิดอื่นมาบรรจุ พร้อมมีคำแจ้งเตือน “ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวัน เดือน ปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ”
วันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองแต่ละชนิด วันเดือนปีที่ผลิต ราคา หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่จัดท้าฉลากสินค้าดังกล่าวต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนด กรณีเป็นผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้าต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นผู้ขายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รู้กันอย่างนี้ก่อนคิดจะกดน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญก็ควรตรวจสอบกันให้เป็นที่เรียบร้อยตามที่ได้กล่าวในข้างต้นจะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือนนะจะบอกให้