ถามกันตรง ๆใครบ้างที่เคยถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ เชื่อว่าหลาย ๆคนคงยกมือกันสลอน ทั้ง ๆที่การให้ความคุ้มครองต่อผู้บริโภคจะถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างชัดเจน แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ซึ่งต้องยอมรับในความเป็นจริง
เช่นกรณีของ “ศาลผู้บริโภค” หรือ “ศาลแผนกคดีผู้บริโภค” ที่เราหยิบยกขึ้นมา แค่เอ่ยชื่อหลายคนอาจพากันทำหน้าแบบฉงน งง ๆพร้อม ๆกับตั้งคำถามตามมาว่า มันมีด้วยเหรอหน่วยงานที่ว่านี้ เขาทำอะไร ทั้ง ๆที่ศาลดังกล่าวถูกตั้งขึ้นตั้งแต่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2551 หรือ 9 ปีที่แล้วโน้น
หากยังจำกันได้หลังหน่วยงานดังกล่าวถูกตั้งขึ้นเพียงแค่ 2 วัน มีการประเดิมพิจารณาคดีแรกที่สร้างความฮือฮาต่อสังคม ณ ขณะนั้น นั่นคือ คดีที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการชื่อดังฟ้องสายการบินนกแอร์ และกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) กรณีที่ไม่ได้จัดให้มีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและโลหะหนัก เพื่อตรวจค้นตัวผู้โดยสารที่จะขึ้นเครื่องสนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช แถมชนะคดีความเสียด้วย
ในความจริงแล้วศาลแผนกคดีผู้บริโภคนั้นอยู่ในศาลแขวง ศาลจังหวัด รวมถึงศาลแพ่งทุกแห่ง ซึ่งผู้บริโภคสามารถเรียกใช้บริการตามแต่สะดวก จะเป็นที่ไหนก็เลือกเอา ส่วนการฟ้องร้องสามารถฟ้องด้วยวาจาหรือจะเป็นหนังสือก็ได้ หรือจะฟ้องด้วยตนเอง หรือแต่งทนายความ หรือจะขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง ดำเนินการฟ้องร้องแทนให้ก็ได้ ที่สำคัญคือไม่ต้องควักกระเป๋าเสียสตุ้งสตางค์ค่าธรรมเนียมด้วย
แล้วคดีประเภทไหนเป็นคดีผู้บริโภค ศาลถึงจะรับพิจารณา ก็ต้องบอกไว้ตรงนี้เลยว่าต้องเป็นคดีแพ่งเท่านั้น แต่ต้องเกี่ยวเนื่องในประเด็นดังต่อไปนี้คือ
ประการแรก ต้องเป็นคดีระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจมีข้อพิพาทกัน เนื่องจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ
ประการที่สอง คดีที่ประชาชนได้รับความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ประการที่สาม ต้องเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีทั้ง 2 ข้อข้างต้น ประการสุดท้าย เป็นคดีแพ่งอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นคดีผู้บริโภค
ส่วนขั้นตอนในการยื่นฟ้องต่อศาลฯ กำหนดหรือวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างไรบ้าง
ประการแรก ผู้บริโภคหรือผู้เสียหายมีสิทธิในการยื่นฟ้องต่อศาลที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ หรือต่อศาลแห่งอื่นได้ แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะฟ้องคดีผู้บริโภคได้เฉพาะเขตศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่เท่านั้น
ประการที่สอง ให้ยื่นฟ้องต่อศาลที่แผนกคดีผู้บริโภคภายใน 3 ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย หากเลยกำหนดนี้ถือว่าขาดอายุความ
ประการที่สาม หากความเสียหายไม่เกิน 300,000 บาทให้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวง ถ้าเกิน 300,000 บาทให้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด หากอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง
ประการที่สี่ การฟ้องคดีผู้บริโภค สามารถฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้
ประการที่ห้า การยื่นฟ้องด้วยวาจา เจ้าพนักงานคดีจะเป็นผู้บันทึกคำฟ้อง และให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ ดังนั้นผู้ฟ้องจึงสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีทนายความก็ได้
ประการที่หก คำฟ้องต้องมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุที่ต้องมาฟ้องคดี รวมทั้งต้องมีคำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นชัดเจนพอที่จะให้เข้าใจได้
ประการที่เจ็ด เมื่อศาลรับคำฟ้องแล้ว ศาลจะกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็ว และออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาลตามกำหนดนัดเพื่อไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานในวันเดียวกัน ถือข้อดีของศาลคดีผู้บริโภคและที่น่าสนใจอีกประการก็คือ อำนาจของศาลคดีผู้บริโภคมที่มีต่อผู้ประกอบกิจการกรณีเกิดความเสียหายต่อผู้บริโภค มีการกำหนดมาตรการไว้ดังนี้
– เปลี่ยนสินค้าให้ผู้บริโภคใหม่ แทนการแก้ไขซ่อมแซม
– ให้ทำประกาศเรียกรับสินค้าคืนจากผู้บริโภค
– ห้ามจำหน่ายสินค้าที่เหลือ เรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่าย หรือให้ทำลายสินค้าที่เหลือ กรณีที่สินค้าอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวม หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังผู้ประกอบธุรกิจได้
– จ่ายค่าเสียหายเกินคำขอของผู้บริโภคได้หากเห็นว่าเกิดความเสียหายมากกว่าที่ได้ขอไป
– จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริง ฯลฯ
ได้ทำความรู้จักหน้าค่าตาและบทบาทกันพอหอมปากหอมคอ คงพอทำให้อุ่นใจไปได้บ้าง ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะได้ไปฟ้องร้องกันถูกที่ แต่จะเอวังหรือวังเวงอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปศาลแผนกคดีผู้บริโภค
ติดต่อแผนกคดีผู้บริโภค ศาลแพ่ง โทร. 02-541- 2389