โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวผ่านสื่อว่าถือเป็นกระแสที่ดีมาก โดย 2 วันแรกมียอดจองทุเรียนจากไทยไป 350,000 กิโลกรัม รวมกว่า 8 หมื่นลูก น้ำหนักประมาณ 350 ตัน คาดว่าปีนี้ผลผลิตทุเรียนในประเทศไทยจะมีประมาณ 760,000 ตัน จึงถือเป็นกระแสที่ดี ทั้งนี้จากการที่กระทรวงพาณิชย์จะทำการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกับฝ่ายจัดซื้อเว็บไซต์อาลีบาบาที่ได้กำหนดมาตรฐานไว้ นั่นคือเรื่องของภาคการส่งออกที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจากนี้
อย่างไรก็ตามปัญหาหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีทั้งในเรื่องของการส่งออกก็ดี หรือแม้แต่การบริโภคภายในประเทศ นั่นคือกรณีที่เกษตรกรไทยตัดทุเรียนอ่อนออกจากจำหน่าย ส่งผลทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเกิดความเสียหาย
ล่าสุด Bee Voice มีข้อมูลดีนำมาฝากถึงผู้บริโภคให้ได้ทราบกันอีกแล้วจากกรณีปัญหาดังกล่าว โดยนางดาเรศร์ กิตติโยภาส โฆษกกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าได้กำชับให้สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง จันทบุรีและตราด รายงานถึงสถานการณ์การผลิตและการจำหน่ายไม้ผลภาคตะวันออกทุกสัปดาห์ โดยขณะนี้มีทุเรียนออกสู่ตลาดไปแล้ว 112,817 ตัน คิดเป็น 27.93% และผลผลิตที่ยังไม่เก็บเกี่ยว 291,089 ตัน คิดเป็น 72.07% (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2561)ซึ่งในช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2561 จะเป็นช่วงที่ทุเรียนออกสู่ตลาดมากที่สุดและเนื่องจากไม่ใช่เป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตจึงมักจะประสบกับปัญหาเรื่องของทุเรียนอ่อน
อย่างไรก็ตามได้มีมาตรการในการป้องกันปัญหาจากการตัดทุเรียนอ่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนคุณภาพผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และมีการส่งเสริมในรูปแบบแปลงใหญ่ทุเรียนในภาคตะวันออก จำนวน 23,092 ไร่ มีสมาชิก 3,079 ราย ซึ่งการผลิตทุเรียนคุณภาพในรูปแบบแปลงใหญ่ เป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการผลผลิตทุเรียนเป็นไปอย่างมีระบบ การลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐาน GAP ส่งผลให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกถ่ายทอดองค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการตลาดแก่เกษตรกรที่ยังไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกผ่านศพก.เครือข่ายสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้รับซื้อทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศได้
“สำหรับมาตรการด้านการป้องกันการตัดทุเรียนอ่อนนั้น ทางคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหาเรื่องทุเรียนอ่อนเป็นนโยบายหลัก ไว้ 3 แนวทาง ด้วยกันคือ
ประการแรก แนวทางเชิงรุกด้วยการสร้างความเข้าใจและเพิ่มทักษะความรู้ให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค การสร้างทีมเกษตรกรและหน่วยรับตรวจความสุกของทุเรียนก่อนการเก็บเกี่ยว
ประการที่สอง แนวทางเชิงรับ ด้วยการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อสกัดกั้นทุเรียนอ่อนระดับอำเภอและระดับจังหวัด
และมาตรการสุดท้ายคือการนำบทลงโทษทางกฎหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ทั้งด้านกฎหมายอาญา ตามมาตรา 271 ที่ระบุว่าผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
นางดาเรศร์ ยังได้กล่าวต่อว่ามีข้อสังเกตง่าย ๆ ก่อนผู้บริโภคจะซื้อทุเรียนในช่วงนี้ นั่นคือ 1.ให้สังเกตที่ก้านผล ซึ่งก้านผลจะแข็งและมีสีเข้มขึ้น สากมือ เมื่อจับก้านผลแล้วแกว่งผลทุเรียนจะรู้สึกว่าก้านผลทุเรียนมีสปริงมากขึ้น ก้านผลบริเวณปากปลิงจะบวมโตเห็นรอยต่อชัดเจน
2.สังเกตหนาม โดยปลายหนามจะแห้งมีสีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย ดังนั้นเมื่อมองจากด้านบนของผลจะเห็นหนามเป็นสีเข้ม หนามกางออก ร่องหนามห่าง เวลาบีบหนามเข้าหากันจะรู้สึกว่ามีสปริง
3.สังเกตรอยแยกระหว่างพู ซึ่งผลทุเรียนที่แก่จัดจะสังเกตเห็นรอยแยกสีน้ำตาลบนร่องพูอย่างชัดเจน ยกเว้น บางพันธุ์ที่พูปรากฏไม่เด่นชัดเช่น พันธุ์ก้านยาว
4.การชิมปลิง ผลทุเรียนแก่จัดเมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงออกจะพบน้ำใส ซึ่งไม่ข้นเหนียวเหมือนในทุเรียนอ่อน และเมื่อชิมดูจะมีรสหวาน
5.การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม เมื่อเคาะเปลือกผลทุเรียนที่แก่จัดจะมีเสียงดังหลวม ๆ เสียงหนักหรือเบาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุของต้นทุเรียน
รู้กันอย่างนี้แล้วคงทำให้หลายคนได้คลายความกังวลใจไม่มากก็น้อย หากจะตัดสินใจซื้อทุเรียนรับประทานในช่วงนี้ เพราะบทลงโทษที่ได้กำหนดไว้ค่อนข้างรุนแรงเอาการทีเดียว และที่สำคัญเคล็ดลับทั้ง 5 ประการในการดูทุเรียนคงจะช่วยให้ผู้ซื้อได้สังเกตก่อนการตัดสินใจซื้อทุเรียนได้เป็นอย่างดี