ล่าสุด Bee Voice มีข่าวคราวมาแจ้งเพื่อให้ทราบกันอีกแล้ว ในการเตือนภัยต่อกรณีดังกล่าว โดยนายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่าทางสคบ.ได้ฝากแจ้งเตือนไปถึงผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เต้ารับ เต้าเสียบ และชุดสายพ่วงไฟฟ้าหรือปลั๊กพ่วงจะต้องมีมาตรฐาน โดยต้องเลือกซื้อปลั๊กไฟสายพ่วงที่มีเครื่องหมายมอก.กำกับอยู่หรือตรวจสอบด้วยว่าสินค้าประเภทดังกล่าวผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพ มีสวิตช์เปิด-ปิด และฟิวส์ช่วยตัดกระแสไฟฟ้าหากใช้ไฟฟ้าเกินขนาดที่กำหนดหรือไม่ เพราะเกรงว่าหากผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาใช้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก
ทั้งนี้การแจ้งเตือนให้ผู้บริโภครับทราบจากกรณีดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันได้มีกฎหมายออกมารองรับสินค้าประเภทดังกล่าวคือพ.ร.ฎ.กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเต้าเสียบและเต้ารับ สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน โดยกำหนดให้สายพ่วงต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2560 และกำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต้องขออนุญาตต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานเลขที่มอก. 2432-2555 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4473 ออกตามพ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 เรื่องกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์เต้าเสียบ และเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน ซึ่ง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.61
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังมีเต้ารับ เต้าเสียบ และชุดสายพ่วงไฟฟ้าที่ผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายก่อนวันที่ 24 ก.พ. 61 ตกค้างจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค สคบ.จึงขอแนะนำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าดังกล่าวที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สัญลักษณ์ความปลอดภัย มอก.2432-2555 โดยเต้าเสียบต้องไม่อ่อนจนใช้มือบีบได้หรือเสียบแล้วต้องแน่น ขนาดของสายไฟต้องมีความยาวเหมาะสมกับจำนวนแอมป์ที่ใช้ เต้าเสียบต้องเป็นขากลมหุ้มฉนวน ส่วนเต้ารับ ถ้ามี 3 ตัวขึ้นไป ต้องมีเบรกเกอร์ป้องกันกระแสไฟเกิน รูปทรงต้องไม่บิดเบี้ยว มีตัวปิดช่องหรือม่านนิรภัยกันเด็กแหย่รูปลั๊กและระบุกำลังไฟสูงที่รองรับได้ 16 แอมป์ต่อ 250 โวลต์
ส่วนผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายที่กฎหมายบังคับให้ต้องผลิต นำเข้า และจำหน่ายแต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตต้องมีเครื่องหมายมาตรฐานบังคับติดแสดงไว้ที่ผลิตภัณฑ์ หากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่ามีความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนผู้ขายที่ขายสินค้าไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และหากมีการปลอมเครื่องหมาย มอก. มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 100,000-1 ล้านบาท
ทางด้าน นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ตั้งแต่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมาทางสมอ.ได้ส่งหนังสือไปยังร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทุกแห่ง เช่น ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านมอก.ทั่วประเทศ ร้าน 20 บาท ร้าน 60 บาท ให้แจ้งยอดคงคลังของปลั๊กพ่วงที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานมอก.2432-2555 เพื่อให้สมอ.ทราบว่าเหลือจำนวนเท่าไร เนื่องจากต่อไปทุกร้านค้าต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่มีตรามอก.ภาคบังคับเท่านั้น หากไม่ทำตามถือว่ามีความผิดต้องโดนลงโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้หลังจากทำหนังสือออกไปแล้วจะมาดูว่าแต่ละร้านค้าเหลือปลั๊กพ่วงหรือเต้ารับเต้าเสียบที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก.เท่าไร เพื่อคำนวณการระบายสต๊อก.
ขณะเดียวกันนายณัฐพลยังได้ระบุว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 หรือตั้งแต่เดือน ต.ค.2560-มี.ค.2561 มีการตรวจยึดและอายัดสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) คิดเป็นมูลค่า 1,313 ล้านบาท สูงขึ้น 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่จำหน่ายสินค้าไม่ได้ตามมาตรฐานสูงสุดคือ อุตสาหกรรมเหล็ก คิดเป็นมูลค่า 1,255 ล้านบาท รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับไฟฟ้า มูลค่า 53 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์อาหาร 2.6 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ด้านโภคภัณฑ์ 2 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ยาง 8.84 หมื่นบาท
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการยึดอายัดสูงสุด 5 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มเหล็กทั้งหมด ได้แก่ เหล็กกล้าคาร์บอนรีดร้อนแผ่นม้วน แผ่นแถบ สำหรับงานท่อ คิดเป็นมูลค่า 536 ล้านบาท เหล็กกล้าคาร์บอนรีดร้อน แผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นหนา และแผ่นบางสำหรับงานโครงสร้างทั่วไป มูลค่า 373 ล้านบาท เหล็กกล้าคาร์บอนรีดร้อน แผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นหนา และแผ่นบางสำหรับงานโครงสร้างเชื่อมประกอบ มูลค่า 117 ล้านบาท เหล็กกล้าคาร์บอนทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานทั่วไปและงหานขึ้นรูป มูลค่า 106 ล้านบาท และเหล็กกล้าคาร์บอนทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธี ทางไฟฟ้า คุณภาพทางการค้าและคุณภาพสำหรับงานขึ้นรูป มูลค่า 24 ล้านบาท
“สาเหตุที่การตรวจจับและการอายัดสินค้ายังมีมูลค่าสูงอยู่นั้น เป็นเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นอาจมีการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานมอก.และมีบางส่วนที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสินค้าที่อายัดไว้นั้นจะนำไปใช้เพื่อกิจกรรมใด ส่วนหนึ่งอาจนำไปใช้ในงานเฉพาะด้านหรือเพื่อส่งออกต่อไปยังต่างประเทศ แต่หากมีการพิสูจน์ได้ว่าสินค้าที่ถูกอายัดนั้น จะนำไปใช้อะไรก็สามารถนำสินค้าออกไปได้”
ทั้งนี้สมอ.ได้สร้างเครือข่ายด้านการกำหนดมาตรฐาน สมอ. (สแตนดาร์ด ดิเวลอปปิง ออแกไนเซชั่น) หรือเอสดีโอ และได้ประกาศแต่งตั้งหน่วยงาน องค์กร และสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐาน โดยการพัฒนาเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน จำนวน 33 ราย เรียบร้อยแล้ว เพื่อช่วยให้การกำหนดมาตรฐานของสมอ.รวดเร็วขึ้น จากเดิม 315 วัน/เรื่องเหลือเพียง 255 วัน/เรื่อง ภายใต้การดำเนินงานที่มีความชัดเจนโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้สมอ.ยังอยู่ระหว่างการรับถ่ายโอนงานบางส่วนที่เกี่ยวข้อง กับการดูแลมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะเดียวกันยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ต้องรับโอนงานในลักษณะเช่นเดียวกัน เช่นสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นต้น ทำให้สมอ.ต้องมีการปรับโครงสร้างระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด คาดว่าจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมใน 3-5 ปี