ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการเติบโตของตลาดดิจิทัลในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธหรือมองข้าม หลาย ๆ ธุรกิจมีการแข่งขันสูงขึ้นในการแข่งขัน ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคก็มีการเติบโตด้วยเช่นกันและมักจะมีให้เห็นหรือปรากฏพบเห็นในโลกโซเชียล รวมถึงในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง
ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างเช่นสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็ดีหรือหน่วยงานอื่น ๆต่างเร่งในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร สร้างการรับรู้ในสังคมอย่างต่อเนื่องแต่ปัญหาในเรื่องดังกล่าวก็ยังคงเกิดขึ้นอยางต่อเนื่องตลอด
ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ (14-15มี.ค.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับคณะกรรมการองค์การอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) แผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค จัดงานสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม (Making digital marketplacesfairer) ภายในงานมีการเสวนาเรื่องการกำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม (Making digital marketplaces fairer)
โดยมี นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. ,นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ,นายอนุพงษ์ เจริญเวช นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, นายภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซ และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมเสวนา
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าปัจจุบันการซื้อขายออนไลน์ง่ายมากข้อมูลส่วนตัวก็ถูกเปิดเผยได้ง่ายขึ้น ถือเป็นอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ทั้งการขโมยข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต รวมถึงการขโมยประโยชน์จากการลักลอบใช้บริการ ยกตัวอย่างมีผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องการถูกขโมยใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศ มีการขายสินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อันตรายมากขึ้นและที่สำคัญมีคนซื้อไปกินแล้วเสียชีวิต
“ขณะที่การใช้สิทธิ์ในการร้องเรียนของผู้บริโภคต้องไปอีกหลายหน่วยงาน ดังนั้นจึงควรที่จะมีหน่วยงาน One Stop service ในการรับเรื่องการร้องเรียนของผู้บริโภค รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของสัญญาโดยการใช้บัตรเครดิตจ่ายเงินซื้อสินค้าออนไลน์ เมื่อไม่ได้สินค้าก็ควรจะได้รับเงินคืนเพราะการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา”
นอกจากนี้นางสาวสารียังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้บริโภคเองต้องมียุทธศาสตร์ในการซื้อสินค้ารวมถึงติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค แชร์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ยังต้องพัฒนากลไกการระงับข้อพิพาทในการร้องเรียนออนไลน์ รวมถึงมีความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องของระบบการชำระเงิน อีกทั้งร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค และร่วมมือกับผู้ประกอบการจัดโครงการสร้างแรงจูงใจกระตุ้นร้านค้าในตลาดประเภท Social commerce
“ในด้านกฎหมายก็ต้องมีการพัฒนาแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยจะต้องมีกฎหมายเฉพาะในด้านนี้ส่งเสริมและกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และสร้างความมั่นใจในการซื้อสินค้าและพัฒนากลไกการฟ้องคดีแบบกลุ่มของไทยให้มีประสิทธิภาพ”
ขณะที่ นายอนุพงษ์ เจริญเวช นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่าการกำกับดูแลผู้ขายมีส่วนสำคัญ ทั้งตัวตน ที่อยู่ เพื่อการตรวจสอบข้อมูลเมื่อมีปัญหา ด้วยการทำระบบข้อมูล Big Data
“หน่วยงานด้านสถาบันการเงินก็มีบทบาทที่สำคัญเช่นกัน ที่จะต้องให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา เช่นกรณีการซื้อครีมโดยใช้บัตรเครดิตชำระเงิน เมื่อจะยกเลิกปรากฏว่าผู้บริโภคกลับขอยกเลิกเองไม่ได้ต้องให้ทางร้านทำเรื่องเข้ามายกเลิก หรือขอให้มีการกำหนดว่าการซื้อสินค้าโดยใช้บัตรเครดิตแล้วยังไม่ได้รับสินค้าต้องเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าได้ และผู้บริโภคที่มีปัญหาสามารถร้องเรียนกับสคบ.ได้” นายอนุพงษ์กล่าว
ทางด้านนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่าบทบาทของกทสช.นั้นทำระบบการสื่อสารซึ่งกำกับดูแลผู้ให้บริการระบบสื่อสารเช่นทีโอที แต่เมื่อมีการขายของผิดกฎหมายทางกสทช.จะเข้าไปใช้อำนาจปกครองสั่งไม่ได้ ต้องให้ทางอย.ออกคำสั่งว่าผิดกฎหมายอย่างไร ทางกสทช.จึงจะสามารถดำเนินการจัดการได้
“การซื้อของออนไลน์นั้นผู้บริโภคไม่รู้จักผู้ขาย แม้จะมีข้อดีคือราคาถูก หาซื้อของแปลก ๆ ได้ แต่การกำกับดูแลในเรื่องของการซื้อขายออนไลน์จะต้องมีนั่นคือ Identity ที่ระบุตัวตนของผู้ขายเช่นอาจจะผูกกับเลขบัตรประชาชนรวมถึงมีระบบคุ้มครองข้อมูลการเงินด้วย เมื่อซื้อของแล้วไม่ได้สินค้านก็ต้องคืนเงิน” กรรมการ กสทช.
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการสร้างพลังของผู้บริโภคว่า การจัดการระบบซื้อขายออนไลน์นั้น ผู้บริโภคต้องอยู่กันเป็นกลุ่มเพื่อสร้างพลัง ใช้อะไรแล้วดีก็บอกต่อ ใช้อะไรแล้วมีปัญหามาบอกต่อกัน การรวมตัวของผู้บริโภคเป็นการรวมข้อมูลกันในการจัดการปัญหาจึงจำเป็นต้องรวมตัวกัน