คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่ต้องประสบกับชะตากรรมจากบ้านแสนรักที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต กว่าจะได้ครอบครองสักหลัง เมื่อบ้านที่ซื้อด้วยน้ำพักน้ำแรงต้องพบกับความผิดหวัง หลังเข้าไปตรวจสอบพบเหตุชำรุดบกพร่อง ทั้งๆที่บ้านหลังที่ซื้อใหม่เอี่ยม
แล้วจะทำอย่างไรกันดีล่ะทีนี้ เรามีเรื่องราวดี ๆในเรื่องของสิทธิของผู้บริโภคมากฝาก เผื่อมีใครกำลังประสบกับปัญหา เนื่องจากปัจจุบันโครงการก่อสร้างบ้านหลาย ๆโครงการมักนิยมใช้วัสดุสำเร็จรูป เพราะนอกจากจะรวดเร็วแล้ว ยังสามารถประหยัดงบประมาณได้อีกมากมาย หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังประสบปัญหา เรามีเรื่องสิทธิผู้บริโภคมาฝากกัน
ประการที่ 1 สิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้ขายหรือเจ้าของโครงการแก้ไขในความชำรุดบกพร่อง แนะนำว่าผู้บริโภคต้องทำเป็นจดหมายแบบไปรษณีย์ตอบรับและทำสำเนาไว้ 1 ชุด (เพื่อรองรับไปรษณีย์ตอบรับกลับมา)
ซึ่งผู้บริโภคสามารถกำหนดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จประมาณ 15 วัน หรือ 30 วัน ถ้าเกินเวลาที่กำหนดไว้และผู้ขายหรือเจ้าของโครงการยังไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง ผู้บริโภคต้องรีบร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยหรือฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป
ในส่วนของการฟ้องคดีเพื่อให้ผู้ขายรับผิดชอบจะต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่ได้พบเห็นถึงความชำรุดบกพร่อง และผู้บริโภคควรที่จะจดบันทึกความเสียหายต่าง ๆ ภายในบ้าน พร้อมถ่ายรูปเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินการต่อไป
ประการที่ 2 ผู้บริโภคมีสิทธิในการใช้สิทธิยึดหน่วงของราคาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาที่ชำรุดบกพร่องให้เรียบร้อย
ประการที่ 3. ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่สามารถใช้สิทธิให้ผู้ขายแก้ไขปัญหาที่ชำรุดบกพร่องให้เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งสามารถที่จะพบเห็นได้ภายนอกแต่ถ้าผู้บริโภคได้เข้าไปตรวจภายในบ้านและยังไม่พบเหตุแห่งการชำรุดบกพร่องในภายนอก
แต่ต่อมาเกิดชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายในของตัวบ้าน อันไม่สามารถเห็นประจักษ์ในขณะที่ตรวจสอบหรือส่งมอบบ้าน เช่น เกิดจากโครงสร้างภายใน เหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินจนกร่อน ซึ่งเป็นเหคุให้มีการเสื่อมสภาพของตัวอาคาร
แม้ในขณะตรวจสอบได้มีการตรวจดูบ้านอย่างละเอียดหลายครั้ง และได้มีการบันทึกเทปวีดีโอเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนก็ตาม แต่ในส่วนของโครงสร้างภายในนั้นการที่ผู้บริโภคจะเข้าไปรื้อฝ้าหรือเพดานเพื่อเข้าไปตรวจสอบภายในบ้านนั้นย่อมไม่มีผู้ใดกระทำ ซึ่งเป็นไปตามปกติธรรมดาที่บุคคลทั่วไปไม่น่าจะคาดคิดว่าบ้านที่ซื้อใหม่จะมีโครงสร้างภายในเกิดปัญหาขึ้นมา
และถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะมีการรับโอนบ้านไปแล้วก็ตาม กรณีนี้ก็ไม่ถือว่าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องนั้นเกิดขึ้น ซึ่งทางผู้ขายหรือเจ้าของโครงการก็ยังคงต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นกับทางผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 473
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
โทร. 02 248 3737 อีเมล์ [email protected]