ล่าสุดพบประวัติคนไข้ถูกนำมาทำเป็นถุงขนมโตเกียว ทั้งๆ ที่ PDPA มีการประกาศให้มีการเตรียมตัวเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 3 ปีแล้ว เหมือนว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากการพบถุงใส่กล้วยแขกทำด้วยสำเนาบัตรประชาชน เรื่องนี้ผู้เก็บรวบรวม ข้อมูลส่วนบุคคล จะต้องให้ความสำคัญ เพราะเมื่อเกิดการรั่วไหลของข้อมูลของ ผู้บริโภค แบบนี้ อาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องทางกฎหมายและทำให้เสียเวลาแลค่าปรับจำนวนไม่น้อย
ประวัติคนไข้กลายเป็นถุงใส่ขนมโตเกียว
เหตุเกิดในจังหวัดชลบุรีเมื่อทีมข่าว THE STANDARD ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เล่าว่าเธอซื้อขนมโตเกียวแล้วสังเกตว่าถุงกระดาษที่ใส่ขนมเป็นกระดาษที่มีการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลของคนไข้เอาไว้
เธอเล่าให้ทีมข่าวฟังว่า เธอและครอบครัวไปเที่ยวสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ระหว่างเดินทางกลับแวะซื้อขนมโตเกียวจำนวน 3 ห่อ เมื่อกลับถึงบ้านและจะทิ้งห่อขนมสังเกตเห็นว่ามีข้อมูลส่วนบุคคลอยู่เต็มไปหมด และเพื่อให้คลายความสงสัยเธอจึงกลับไปซื้อซ้ำ และได้รับถุงที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของโรงพยาบาลเดิมอีกจำนวน 3 ถุง
ข้อมูลส่วนบุคคล ที่กลายเป็นถุงประกอบด้วย
- ชื่อ-นามสกุล
- หมายเลขบัตรประชาชน
- หมายเลขโทรศัพท์
- หมู่เลือด
- โรคประจำตัว
- อาการที่เข้ารักษา
- ที่อยู่
- ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ญาติใกล้ชิด
แน่นอนว่าในกระดาษที่กลายเป็นถึงมีการระบุชื่อโรงพยาบาลไว้อย่างชัดเจน
โรงพยาบาลต้องทำการทำลาย ข้อมูลส่วนบุคคล อย่างถูกต้อง
PDPA มีการกำหนดบทบาทของผู้ประมวลผลข้อมูล หรือผู้ที่ทำการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากมีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลให้ปลอดภัยแล้ว ยังต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการใช้งาน และเมื่อหมดระยะเวลาในการใช้งานก็มีหน้าที่ต้องทำลายข้อมูลเหล่านั้นทิ้งอย่างถูกต้อง
ในกรณีนี้ถือว่าทางโรงพยาบาลทำลายข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นกระดาษด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เอกสารที่ทำการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลควรจะถูกทำลายด้วยวิธีการที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้อีก แต่คงไม่ใช่การนำเอกสารเหล่านั้นไปชั่งกิโลขาย จนกลายร่างมาเป็นถุงใส่ขนมโตเกียวอย่างที่เป็นข่าว งานนี้ถ้าเจ้าของข้อมูลทราบแล้วทำการรวมตัวกันร้องเรียนก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ โรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลควรจะศึกษาเอาไว้เป็นกรณีศึกษา ผู้บริโภค อย่างเราก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้
อ้างอิง: THE STANDARD
บทความแนะนำ: ไม่อยากหมดตัวอย่าทำ