ข้อมูลส่วนบุคคล กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อพบว่ามีการหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการประกาศใช้ PDPA อย่างเต็มรูปแบบไปแล้วก็ตาม โดยการหลอกลวงเริ่มพัฒนาจากการโทรมาสู่รูปแบบอื่นไม่ว่าจะเป็นลิงก์ทาง SMS และลิงก์จากทางโซเชียลมีเดียต่างๆ งานนี้สำนักนายกรัฐมนตรีต้องออกมาเตือนให้ ผู้บริโภค ทำการปกป้อง ข้อมูลส่วนบุคคล ของตนกันเอาไว้ให้ดี โดยเฉพาะข้อมูลที่เราจะบอกท่านต่อไปนี้
รัฐบาลเตือนให้ ผู้บริโภค ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
รัฐบาลเตือนประชาชนผ่านทางรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ใจความว่า เนื่องจากขณะนี้ได้พบกรณีประชาชนถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งพบว่ามีลักษณะคล้ายกันคือ การให้เปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ให้มิจฉาชีพที่มักจะแสดงตัวในบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐ จนนำไปสู่การถูกจารกรรมทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งไปที่เงินในบัญชีเงินฝาก
วิธีการป้องกันการถูกหลอกลวง
เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงหรือถูกจารกรรมข้อมูลการเงิน สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้มีคำเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการให้ ข้อมูลส่วนบุคคล แก่บุคคลอื่นตามช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลให้กับคนที่ไม่รู้จัก นอกจากนี้ยังแนะนำให้หลีเลี่ยงการร่วมกิจกรรมบนโซเชียลมีเดีย ที่มีลักษณะหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในที่สาธารณะเพื่อแลกกับอะไรบางอย่าง ที่พบเจอมาในขณะนี้ก็คือ การรับรหัส ATM นำโชค ที่มุ่งจะทำการหลอกลวงผู้ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับตัวเลข ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียเงินในบัญชีในที่สุด
5 ประเภท ข้อมูลส่วนบุคคล ที่ไม่ควรเปิดเผย
นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ยังเตือนประชาชนว่ามีข้อมูลส่วนบุคคล 5 ประเภทที่ต้องระวังไม่ทำการเปิดเผยกับบุคคลอื่น ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นคือ
- หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขหนังสือเดินทาง และหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี
- ข้อมูลเกี่ยวกับพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล
- ข้อมูลการเงิน เลขบัญชี รหัส ATM และเลขบัตรเครดิต
- ข้อมูลทางชีวภาพ ลายนิ้วมือ และข้อมูลแสดงม่านตา
- ข้อมูลเกี่ยวอุปกรณ์ใช้งาน IP Address Mac Address และCookie ID
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มักจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงที่เกิดจากการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ตัวเราเองจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเรากันอย่างเต็มที่ เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปเชื่อมโยงและเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ ของเราได้อย่างมากมาย นำไปสู่การเปิดช่องทางให้กับผู้ไม่หวังดีเข้ามาหลอกลวงให้เราเสียทรัพย์สินเงินทองได้ ก่อนให้ข้อมูลอะไรกับใครคิดให้ดีก่อนทำจะกดแต่ “Yes” อย่างเดียวเหมือนในอดีตไม่ได้แล้ว
อ้างอิง: https://www.dga.or.th/
บทความแนะนำ: ผู้บริโภคเริ่มร้องเรียนเรื่อง PDPA ได้แล้ว