เชื่อว่า ผู้บริโภค จำนวนมากถูกรบกวนด้วยการโทรเข้ามาเพื่อติดต่อเสนอขายสินค้าและโปรโมชันจำนวนมากมาย ตลอดหลายสิบปีที่เราต้องเสียเวลากับการรับสายเบอร์ที่ไม่คุ้น เพราะคิดว่าเป็นคนที่ต้องการติดต่อเราเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ แต่ต่อจากนี้ไปหลังจากที่ PDPA ประกาศใช้ สิทธิในข้อมูลส่วนตัวของเราก็จะได้กลับมาเป็นของเราจริงๆ สักที ต่อจากนี้ไปใครจะเอาข้อมูลของเราไปใช้จะต้องอธิบายเราได้ว่าไปได้ข้อมูลมาจากไหนเมื่อไร และเราเองจะเป็นคนที่จะบอกว่าให้ใช้ต่อหรือไม่ให้ใช้ต่อ ต่อจากนี้คือวิธีการและขั้นตอนในการจัดการกับ Call Center ที่เราไม่ต้องการ
Call Center โทรมาขายของ ผู้บริโภค ทำอะไรได้บ้างตาม PDPA
หลังจากที่เราอ่านบทความนี้จบ ประโยคพูดคุยกับ Call Center จะเปลี่ยนไปตลอดกาล จากเดิมที่ต้องคอยฟังแล้วก็ปฏิเสธข้อเสนอต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการเสียเวลาทั้งสองฝ่ายซะส่วนใหญ่
ทันทีที่ Call Center แจ้งหน่วยงานหรือสังกัดเสร็จ ให้เราทำการถามไปได้เลยว่า “ขอทราบแหล่งที่มาขอข้อมูล” ของเรา และหลังจากที่เขาแจ้งที่มาของข้อมูลได้หรือไม่ได้ก็ตาม ถึงเวลาที่เราจะต้องตัดสินใจ
หากไม่ต้องการให้เขาติดต่อเราอีกในเรื่องนี้ ก็ให้ใช้ “สิทธิคัดค้าน” การใช้ข้อมูลในการทำการตลาดแบบนี้ได้ และหลังจากที่เราแจ้งเรื่องนี้กับ Call Center แล้ว เขาจะต้องยุติการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเราในการติดต่อเรื่องนี้ทันที
หลังจากใช้สิทธิในการคัดค้านแล้วยังโทรมาอีกต้องทำอย่างไร
หากยังพบว่ายังมีการติดต่อเราจากหน่วยงานหรือต้นสังกัดเดิม ให้เริ่มทำการรวบรวมหลักฐานได้เลยว่ายังคงมีการติดต่อซ้ำหลังจากแจ้งคัดค้านการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเราแล้ว และให้ทำการติดต่อไปยังต้นสังกัดของ Call Center หากบริษัทฯ ดังกล่าวมีการแต่งตั้ง DPO แล้วก็ให้ติดต่อ DPO ได้เลย
เมื่อไรถึงจะติดต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
เมื่อติดต่อต้นสังกัดของ Call Center หรือ DPO ของบริษัทฯ นั้นๆ แล้วยังพบว่ามีการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลของเราในการติดต่ออีก ให้ทำการรวบรวมหลักฐานและทำการติดต่อขอความช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อไป
อ้างอิง: https://www.facebook.com/pdpc.th
บทความแนะนำ: วิธียื่นคำร้องเรียนของผู้บริโภค เรื่อง PDPA