หลังจากที่มีการบังคับใช้ PDPA อย่างเต็มรูปแบบ พบว่ามีการสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมากมาย และพบว่ายังมีความไม่ถูกต้องของการนำเสนอเนื้อหาจะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ก็ทำให้เกิดเรื่องเข้าใจผิดเกิดขึ้นในสังคม เราเองในฐานะ ผู้บริโภค ต้องรู้เท่าทันว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนไม่จริง ผู้บริโภคจะได้รู้ว่าอะไรยังคงทำได้และอะไรทำไม่ได้
ถ่ายรูปถ่ายคลิปติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม ถือว่าทำผิด PDPA
กรณีการถ่ายรูปถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่น โดยผู้ถ่ายรูปถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว
นำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดีย โดยไม่ได้ขอความยินยอม ถือว่าทำผิด PDPA
สามารถโพสท์ได้หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ได้นำไปใช้ทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
ติดกล้องวงจรปิดในบ้านแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือน ถือว่าทำผิด PDPA
การติดกล้องวงจรปิดภายในบ้านไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน เพราะถือว่าเป็นการป้องกันอาชญากรรมและรักษา
ความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน
ผู้บริโภค ต้องให้ความยินยอมทุกครั้ง ก่อนถึงจะนำข้อมูลไปใช้ได้
- ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว
- เป็นการทำตามสัญญา
- เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
- เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล
- เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยหรือสถิติ
- เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
- เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง
เชื่อว่ายังจะมีเรื่องราวเข้าใจผิดเกี่ยวกับ PDPA ตามมาอีกมากมาย ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ จะได้รู้ถึงสิทธิของตัวเราเองว่าสามารถทำอะไรได้บ้างในเรื่องนี้
อ้างอิง: คู่มือ PDPA ฉบับประชาชน
บทความแนะนำ: 10 ข่าวปลอมที่ผู้บริโภคต้องรู้