เจตนาของ PDPA เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ผู้บริโภค ที่ได้ให้ไว้กับผู้ประกอบการ ร้านค้า และองค์กรต่างๆ ไม่ให้รั่วไหล การป้องกันไม่ให้นำไปใช้ในทางเสียหายคือหัวใจสำคัญ
พบเจอเหตุผิดปกติถ่ายคลิปได้หรือไม่?
ผู้บริโภคอาจจะวิตกกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ว่าเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย หนึ่งในข้อกังวลก็คือ กรณีพบเห็นเหตุการณ์ผิดปกติแล้วถ่ายภาพหรือคลิปเก็บไว้เป็นหลักฐานจะทำได้หรือไม่
คำตอบคือในกรณีนี้สามารถทำได้ แต่ต้องไม่นำมาเผยแพร่หรือโพสต์ด้วยตนเอง ควรส่งหลักฐานเหล่านั้นให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย
“การที่เราเอาภาพที่ไม่เหมาะสม เอาคลิปที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมมาโพสต์ หรือมาแชร์เอง ก็อาจจะไปละเมิดสิทธิของคนอื่น อาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะเขาเป็นผู้เสียหายจากสิ่งที่ท่านทำ แต่ถ้าเก็บคลิป แล้วนำไปให้เจ้าหน้าที่เพื่อเป็นหลักฐาน เพื่อประโยชน์ในทางรูปคดีอันนี้ทำได้อยู่แล้ว”
ผู้บริโภค ควรเข้าใจว่า PDPA มีไว้เพื่ออะไร?
พร้อมทั้งย้ำว่ากฎหมาย PDPA มุ่งที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลของพี่น้องประชาชนที่เคยให้กับร้านค้า หน่วยงานต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการและหน่วยงานเหล่านั้น ต้องเก็บข้อมูลของประชาชนให้ดี ไม่ให้รั่วไหล ถ้าจะนำไปใช้ประโยชน์ก็ต้องขอความยินยอมจากผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูล และห้ามนำไปใช้ทำให้พี่น้องประชาชน หรือเจ้าของข้อมูลเกิดความเสียหาย
นี่คือหลักการสำคัญของกฎหมาย แต่เรื่องการโพสต์ การแชร์ การให้ข่าวต่างๆ ไม่ได้เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ เพียงแต่อาจจะไปผิดกฎหมายอื่น เป็นการละเมิดสิทธิบุคคลมีการฟ้องแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายกันอันนี้อีกเรื่องหนึ่ง อยากให้มองว่าเจตนารมณ์ของ PDPA คุ้มครองข้อมูลของเราที่เก็บไว้ในร้านค้าหรือองค์กรต่างๆ ไม่ให้รั่วไหลนี่คือหัวใจสำคัญ
พวกเราในฐานะผู้บริโภคซึ่งก็คือเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ควรทำความเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับ PDPA เอาไว้ เพื่อที่จะได้ไม่หลงเชื่อไปกับข้อมูลผิดๆ ที่มีการแชร์กันออกมาอย่างมากมาย Beevoice เองก็จะทำการอัพเดทเรื่องนี้ในมุมมองของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง: facebook.com/pdpc.th
บทความแนะนำ: ผู้บริโภคซื้อของออนไลน์ให้ข้อมูลแค่ไหน?