ถามกันซึ่งหน้าตรง ๆเลย “สังคม 4.0 มีใครบ้างที่ไม่เคยซื้อของในโลกออนไลน์” ส่วนใหญ่คงไม่ปฏิเสธว่าการซื้อขายบนโลกออนไลน์แสนจะสะดวกสบาย เพียงแค่ปลายนิ้วคุณก็สามารถช้อปปิ้งกันได้ชิลล์ ๆ เป็นเจ้าของสินค้าที่อยากได้ในพริบตา ไม่ต้องนั่งรถ ฝ่าการจราจรที่ติดขัดออกไปช้อปให้เปลืองเวลา
จึงไม่แปลกใจเมื่อมีการระบุว่าปี ’60 คนไทยช้อปผ่านออนไลน์กว่า 3 แสนล้าน ขณะที่ปี ’61 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4 แสนล้าน โดยคนไทยที่ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ มีประมาณ 7.9 – 8 ล้านคนของประชากรไทยทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน อยู่ที่ 41,215 บาท โดยในจำนวนคนไทยที่ซื้อผ่านออนไลน์ มี 2 ล้านคนที่ซื้อขายออนไลน์ข้ามประเทศ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 30,892 บาท คิดเป็นยอดใช้จ่ายรวมกว่า 60,000 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า ยอดการซื้อขายข้ามประเทศของคนไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 84โดยเฉพาะในปี 2561 ยอดใช้จ่ายออนไลน์ของนักช้อปคนไทย จะขยับขึ้นเป็น 426,655 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
แน่นอนว่าการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ บางครั้งใช่ว่าการสั่งซื้อจะสะดวกราบรื่น ได้สินค้าสมใจลูกค้าไปทุกครั้ง บ่อยครั้งที่มักปรากฏในโลกออนไลน์ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวอยู่เสมอ ว่าผู้สั่งซื้อสินค้าออนไลน์จำนวนไม่น้อยต้องพบกับผิดหวังกับคุณภาพสินค้าที่ได้ไม่ตรงตามที่ต้องการ ไม่เป็นไปอย่างที่คิด หรือไม่ตรงตามรูปภาพที่นำมาแสดงโชว์สินค้า แถมยังต้องแลกกับราคาที่จ่ายไปแสนจะแพง สุดท้ายต้องมานั่งระทมจมทุกข์กับสินค้าที่สั่งซื้อ
ขณะที่มาตรการในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว สำหรับในบ้านเรายังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน ยามเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้แต่ออกมาคอยให้คำแนะนำก็เท่านั้น ขณะที่ในเรื่องของมาตรการในการจัดการกับการหลอกลวงการขายสินค้าก็ดี หรือแม้แต่บทลงโทษที่เด็ดขาดยังไม่เห็นเป็นที่ชัดเจน
ล่าสุดประเทศจีน ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่นิยมในเรื่องซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ รัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายในการจัดการธุรกิจหลอกลวงขายของออนไลน์รุนแรงมากขึ้น ด้วยการสั่งปรับเงินขั้นสูงสุดจำนวน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือกว่า 1 ล้านบาทแก่เว็บไซต์ หรือผลิตภัณฑ์สินค้าใด ๆก็ตามที่ถูกตรวจสอบหรือสุ่มพบว่ามีการโฆษณาเกินจริงและหลอกลวงลูกค้า นี่ยังไม่นับรวมถึงการจัดตั้งศาลพิเศษจัดการคดีฉ้อโกงธุรกิจขายของออนไลน์โดยเฉพาะ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศกำหนดมูลค่าความเสียหายฟ้องร้องกันได้ตั้งแต่ราคา 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.7 แสนบาท)
เป็นเรื่องที่น่าคิดสำหรับประเทศไทยที่กำลังบูมในเรื่องของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ขณะที่ในต่างประเทศเขามีมาตรการเข้มจัดการต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด สำหรับบ้านเราแม้จะมีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เห็นมีมาตรการอะไรที่เด็ดขาดหรือเห็นเป็นรูปธรรมต่อการแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แค่ลำพังเสนอจัดเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ที่พูดกันจนน้ำลายฟูมปากยังต้องตามลุ้น รอแล้วรออีกหรือนี่คือไทยแลนด์ 4.0