ความจำเป็นในการใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เพื่อความสะดวกในการเดินทางดูจะเป็นเหตุผลหลักของใครต่อใครหลายคนที่ใช้เป็นทางเลือกในการซื้อรถของผู้บริโภค ขณะที่ทางเลือกในการเลือกซื้อนอกจากจะซื้อด้วยเงินสดแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันมากในหมู่ขาช้อปทั้งหลายนั่นคือการใช้เงินผ่อน
ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ต้องยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และแน่นอนว่านั่นคือภาระความรับผิดชอบที่ผู้ซื้อจะต้องผ่อนส่งค่างวดรถซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานาน 3 – 5 ปี พร้อมกันนี้ยังต้องแบกรับภาระจากดอกเบี้ยที่อาจทำให้มูลค่ารถคันโปรดของคุณราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ก็เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยจำเป็นต้องใช้อย่างไม่มีทางเลือกในเมื่ออยากสบายนี่หว่า
แต่กว่าจะถึงจุดนั้นจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งก็มักมีการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นขอสินเชื่อ แต่ก็ใช่ว่าคุณจะได้รับอนุมัติสินเชื่อได้ทุกรายเสมอไป เพราะหลายครั้งที่พบว่ามีผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยได้ตัดสินใจวางอนาคตกับเงินมัดจำในการซื้อรถไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่พอยื่นขอสินเชื่อกลับต้องพบเจอกับอุปสรรคอย่างจัง นั่นคือไม่ผ่านการอนุมัติเจอเข้าไปแบบนี้จะทำอย่างไรกับชีวิตกันล่ะทีนี้ เหนืออื่นใดเงินมัดจำที่จ่ายไปแล้วจะมีสิทธิเรียกคืนได้หรือไม่ ???
มาฟังทางนี้ดีกว่าเพราะ Bee Voice มีคำตอบต่อกรณีดังกล่าว สำหรับคนที่กำลังคิดอยากจะสร้างหนี้สินในการซื้อรถใช้ส่วนตัว แนะนำเลยว่าจะเป็นสองล้อหรือสี่ล้อบอกเลยว่าต้องอ่าน โดยเรื่องนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แนะนำไว้น่าสนใจเลยทีเดียว ส่วนจะมีรายละเอียดอย่างไปติดตามกันเลย
สคบ.บอกว่าหากจะทำการซื้อรถด้วยระบบเงินผ่อน ผู้ซื้อจำเป็นต้องขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน บริษัทไฟแนนซ์หรือลิสซิ่งต่าง ๆ ซึ่งบริษัทฯจะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อที่ไม่มีประวัติชำระหนี้ล่าช้า ผิดนัดชำระหนี้ มีอาชีพที่มั่นคง มีอายุการทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปี มีรายได้สม่ำเสมอและเพียงพอที่จะชำระค่างวดรถได้
และในการขอสินเชื่อดังกล่าวก็มักมีเงื่อนไขกำหนดให้มีบุคคลที่สาม ซึ่งมีเครดิตดีเข้ามาเป็นผู้ค้ำ ประกันหรือผู้กู้ร่วมด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในกรณีต่าง ๆ เข้ามายังสคบ.อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีรถยนต์/ รถจักรยานยนต์ชำรุดบกพร่อง การส่งมอบล่าช้าหรือไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้แม้จะผ่อนชำระครบถ้วนแล้ว แล้วในกรณีที่บริษัทฯไม่ปฏิบัติตามสัญญากรณีขอสินเชื่อซื้อรถแล้วไม่ผ่านการอนุมัติจากสถาบันการเงิน ฯลฯต้องทำอย่างไร
ซึ่งประเด็นปัญหาการขอสินเชื่อซื้อรถเมื่อผู้บริโภคได้จองรถยนต์และวางเงินจอง/มัดจำไปแล้ว แต่เมื่อได้รับแจ้งจากสถาบันการเงินว่าไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ มันก็มีคำถามว่าแล้วเงินมัดจำที่จ่ายไปจะสามารถขอคืนได้หรือไม่???
เรื่องนี้สคบ.โดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาได้ประกาศให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 ควบคุมอยู่ ซึ่งหากพบกรณีดังกล่าวผู้บริโภคควรติดต่อไปยังผู้ประกอบการเพื่อขอเงินจองคืน โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือยืนยันว่าได้มีการยื่นขอสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถจริง เมื่อปรากฏว่าสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อให้นั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคืนเงินจองหรือเงินมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภค ภายใน 15 วัน
อย่างไรก็ตามทางสคบ.ยังได้ฝากเตือนถึงผู้บริโภคว่า ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ซื้อจะต้องประเมินกำลังซื้อของตนว่าผ่อนไหวหรือไม่? (เพราะนั่นคือภาระที่ต้องรับผิดชอบภายในระยะเวลา 3 – 5 ปี) รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกหลังจากรับรถมาใช้งานแล้ว เช่น ค่าน้ำมัน, ค่าดอกเบี้ย (รวมอยู่ในค่างวด), ค่าประกันภัย, ค่าซ่อมบำรุงรักษาตามระยะ และค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้แก่ ภาษีประจำปี, พ.ร.บ., ฯลฯ
ประการสำคัญที่จะละเลยเสียไม่ได้ คือ ต้องรอบคอบทุกครั้งก่อนลงนามในการทำสัญญา ต้องศึกษารายละเอียดในสัญญา ดูเงื่อนไขที่มีการระบุไว้ก่อนจะจับปากกาจรดลงลายมือชื่อ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาสิทธิของตนเองทุกครั้ง
รู้กันอย่างนี้แล้วก่อนตัดสินใจจะสร้างหนี้ก็ควรตรวจสอบตนเองให้เรียบร้อยซะก่อน โดยเฉพาะเงินในกระเป๋าลำพังแค่กระเป๋าแบนยังถูกแฟนทิ้ง แต่การคิดจะขอสินเชื่อต่อสถาบันนี่สิปัญหาใหญ่กว่าเพราะอาจเป็นอุปสรรคต่อชีวิตคุณก็เป็นไปได้ในอนาคต แล้วจะหาว่าไม่เตือนนะจ๊ะ ????