หลังจากมีการเปิดประเด็นกรณีคุมธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หลาย ๆคนก็ตามลุ้นกันอย่างใจจดใจจ่อกับการรอบังคับใช้กฏหมาย ล่าสุด Bee Voice มีความคืบหน้าสำหรับกรณีดังกล่าวมาฝากให้ได้ชื่นใจกันอีกแล้ว
นั่นคือการออกมาเปิดเผยผ่านสื่อมวลของพล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ออกมาระบุว่า เร็ว ๆนี้ (28 ก.พ.) สคบ.ได้ลงพื้นที่ในการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้พบว่าผู้ประกอบธุรกิจห้องพักและอพาร์ตเมนต์ให้เช่าหลายรายพร้อมให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมา และยืนยันที่จะดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมจากการเช่าห้องพักอย่างถูกกฎหมายด้วย
“อยากเรียนว่าการลงพื้นที่ในครั้งนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าใจว่ามีกฎหมายออกมา แต่ก็ยังมีบางรายที่ต้องแก้ไขรายละเอียดของสัญญาการเช่าห้องพักให้ถูกต้องตามกฎหมาย และยังมีบางแห่งที่อ้างว่าตัวเองเป็นหอพักที่จดทะเบียนตามพ.ร.บ.หอพักของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือพม.จึงไม่เข้าข่ายกฎหมายสคบ.
แต่จากการตรวจสอบพบว่า หอพักบางแห่งไม่ใช่หอพักตามกฎหมายของพม.เพราะไม่ได้มีนักศึกษามาพักทั้งหมด ไม่ได้แยกหอพักชายหญิง และได้แบ่งห้องบางส่วนให้คนทั่วไปที่มีอายุเกิน 25 ปีเข้าไปเช่า ซึ่ง สคบ.แจ้งว่าหากเป็นลักษณะนี้จะเข้าข่ายของสคบ. ซึ่งผู้ประกอบการก็เข้าใจและพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขสัญญาต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย สคบ.”
ซึ่งการออกประกาศดังกล่าวนี้ถือเป็นการแก้ไขและควบคุมปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจการให้เช่าที่พักเพื่อการอยู่อาศัยที่ก่อนหน้านี้มีกรณีร้องเรียนเข้ามายังสคบ.เป็นจำนวนมาก โดยประกาศฯฉบับนี้จะครอบคลุมถึงการประกอบธุรกิจที่ผู้ประกอบธุรกิจตกลงให้ผู้เช่าซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้ใช้อาคารเพื่ออยู่อาศัย โดยผู้ประกอบธุรกิจจะมีสถานที่ที่จัดแบ่งให้เช่าตั้งแต่ 5 หน่วยขึ้นไป ไม่ว่าจะอยู่ในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกัน
อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามดังต่อไปนี้จะถือว่ามีความผิด ต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดด้วยโทษจำคุก 1 ปี พร้อมปรับเงินไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งกรณีการเรียกเก็บค่าบริการต่าง ๆ เกินกว่ากฎหมายกำหนด เช่น เรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้าเกิน 1 เดือน, เรียกเก็บเงินประกันเกินกว่า 1 เดือนของอัตราค่าเช่าเมื่อคำนวณเป็นรายเดือน
ริบเงินประกันหรือค่าเช่าล่วงหน้า, เข้าตรวจสอบอาคารโดยมิต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบก่อนล่วงหน้า, คิดค่าบริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาเกินกว่าอัตราที่ผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาเรียกเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจหรือปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์อาคารหรือมีสิทธิเข้าไปในอาคารเพื่อยึดทรัพย์สิน หรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการเช่าอาคาร
พล.ต.ต.ประสิทธิ์ ยังได้กล่าวต่อว่าระหว่างนี้ทางผู้ประกอบธุรกิจยังมีเวลาในการเตรียมตัวเพราะกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พ.ค. 61 และเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้วทางสคบ.จะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ให้ความร่วมมือหรือไม่หากพบว่ายังมีการฝ่าฝืนหรือตั้งใจต้องถูกลงโทษทันทีขณะเดียวกันในเดือนมี.ค. 61 สคบ.ยังเตรียมจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ที่มีหอพักจำนวนมากอีก 2-3 แห่ง เพื่อประชาสัมพันธ์ต่อไป
ขณะที่นายอุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สคบ. กล่าวว่า สคบ. ยังได้ทำหนังสือส่งไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด ได้นำกฎหมายฉบับนี้ไปประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจห้องพักในพื้นที่ได้รับทราบ และให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด