พูดถึง “สินค้าเงินผ่อน” หลาย ๆคนคงมีประสบการณ์กันมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะกับปัญหาที่ใครบางคนเคยพบเจอกันมากับตนเอง นั่นคือหลังจากที่กำลังผ่อนสินค้าอยู่แล้วต้องประสบกับปัญหากระทั่งทำให้ไม่สามารถผ่อนจ่ายเงินค่างวดของสินค้าได้
ทำให้เกิดเป็นคำถามที่ตามมาว่าถ้าจะต้องเจอกับเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้จะโดนยึดสินค้าหรือไม่ ?? หรือหากมีการนำสินค้าดังกล่าวไปขายต่อโดยที่ไม่ได้ผ่อนต่อ เจ้าหนี้บอกว่าเป็นคดีอาญา….เราต้องติดคุกหรือไม่ วันนี้Bee Voice ไปหาคำตอบจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มาฝากในการไขข้อข้องใจต่อกรณีดังกล่าว
ก่อนอื่นไปดูนิยามของคำว่า “สัญญาเช่าซื้อ” กันก่อนว่าคืออะไร สัญญาเช่าซื้อหมายถึงการที่ลูกค้าไปเอาของของเขามาใช้ในลักษณะของการเช่าของ และสัญญาว่าจะจ่ายเงินค่าสินค้านั้น ๆ โดยการผ่อนเป็นงวด ๆ พร้อมดอกเบี้ยตามข้อตกลงจนกว่าจะครบตามมูลค่าของสินค้านั้น ๆ จึงจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์จากขายสินค้าให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่าซื้อได้
และถ้ากรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชาระ นั่นหมายความว่าเจ้าของสินค้าจะต้องไปตามยึดเอาของคืนมา แต่ถ้าไปยึดสินค้าแต่กลับไม่มีสินค้าให้ยึดเนื่องจากลูกค้าได้มีการนำไปขาย จำนำ หรือยกให้ผู้อื่นไปแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของสินค้าก็สามารถฟ้องลูกค้าผู้นั้น ถือเป็นคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ของผู้อื่นได้
ดังนั้นการที่จะไปยึดสินค้าที่กำลังผ่อนอยู่นั้นได้หรือไม่ ก็ต้องไปดูในตัวของสัญญาเป็นหลักว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ หากเป็นสัญญาเช่าซื้อจะต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้คือ
ประการแรก สัญญาที่ทำเป็นสัญญาเช่าซื้อได้นั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินของผู้ขายสินค้ามาตั้งแต่เริ่มแรก
ประการที่สอง คำบนหัวกระดาษของหนังสือสัญญาจะต้องเขียนคำว่า “เป็นสัญญาเช่าซื้อ” เท่านั้น
ประการที่สาม ในหนังสือสัญญาจะต้องมีรายละเอียดของสินค้าที่จะเช่าซื้อให้ชัดเจน
เพราะฉะนั้นขอย้ำตรงนี้เลยว่า สินค้าส่วนใหญ่ที่ลูกหนี้ผ่อนอยู่กับพวก NON BANK ต่าง ๆ ทุกวันนี้ส่วนมากไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อ ด้วยเหตุว่าพวก NON BANK ไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้ามาตั้งแต่เริ่มแรก
ส่วนประเด็นสำคัญที่ว่า กรณีที่ซื้อสินค้าโดยชำระผ่านบัตรเครดิตแต่เกิดมีปัญหาในเรื่องการเงินในเวลาต่อมาทำให้ไม่สามารถชำระได้นั้น ทางเจ้าของธนาคารฯซึ่งเป็นเจ้าของบัตรเครดิตมีสิทธิจะมายึดสินค้าจากเราได้หรือไม่นั้น ประเด็นนี้ไปหาคำตอบกันเลยว่าอย่างไร
จากข้อมูลโดยสคบ.ระบุว่าการนำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปโภคหรือบริโภค ก็คือการยืมเงินจากทางเจ้าหนี้ให้สำรองจ่ายแทนเราไปก่อน
สำหรับการซื้อสินค้านั้น ๆโดยการรูดบัตรเครดิต ส่วนเราจะนำไปซื้อสินค้าอะไรนั้นเป็นสิทธิของเรา เจ้าหนี้จะมาทวงสินค้าที่เราซื้อไปไม่ได้ เพราะสินค้านั้นได้ตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของเราแล้วเพียงแต่เราต้องไปชดใช้หนี้ตามจำนวนเงินที่ได้ไปยืมเขามา นั่นคือธนาคารฯในฐานะที่เป็นเจ้าของบัตรเครดิต มาเท่านั้นเอง
รู้กันอย่างนี้แล้ว คงทำให้หลาย ๆคนรู้สึกเบาใจได้ไม่มากก็น้อยสำหรับ “การซื้อสินค้าเงินผ่อน” แต่อยากแนะนำอีกประการคือ ถ้าไม่มั่นใจว่าตนเองมีกำลังพอจะผ่อนสินค้าได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ก่อนตัดสินใจซื้อก็ลองชั่งใจหรือคิดให้รอบคอบสักนิด ชีวิตจะได้ไม่ติดหล่มประสบกับความยุ่งยากในระหว่างทางของการชำระสินค้า