ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจและต้องเรียนรู้ไว้ สำหรับบรรดาขาช้อปทั้งหลายที่ชอบซื้อสินค้าทางออนไลน์ เรามีเรื่องราวดีๆ ที่เป็นอุทาหรณ์มาฝากจากผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี ที่บังเอิญได้ประสบเหตุจากเรื่องดังกล่าวด้วยตนเองในฐานะของผู้เสียหายจากการซื้อสินค้า จึงถูกนำมาแชร์เผยแพร่กันให้สังคมได้รับรู้
โดยผู้เสียหายรายนี้เล่าว่าเขาได้สั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ชื่อดังแห่งหนึ่งจำนวน 2 ชิ้น ในราคาชิ้นละ 900 บาท รวมเป็นเงิน 1,800 บาท แต่ภายหลังกลับพบว่าสินค้าที่ส่งมามีเพียงแค่ชิ้นเดียว แถมในรายการใบส่งของยังเป็นคนอื่นซะอีก
ด้วยความรอบคอบเขาจึงได้ถ่ายรูปในกล่องพร้อมส่ง Delivery Note กับทางบริษัทฯ โดยทางเจ้าหน้าที่รับปากว่าจะติดต่อในทันทีแต่สุดท้ายแล้วเรื่องก็เงียบเป็นเป่าสาก ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
กระทั่งผ่านไปกว่า 1 เดือนเขาจึงได้รับการติดต่อจากทางบริษัทฯที่ซื้อสินค้า ก่อนจะแจ้งให้ทางบริษัทจัดส่งสินค้าที่ขาดหายไปอีก 1 ชิ้นภายในระยะเวลา 7 วันพร้อมระบุว่าหากเกินระยะเวลาจากนี้ก็ไปก็จะไปดำเนินการฟ้องต่อศาล สุดท้ายเขาจึงตัดสินใจไปยังศาลแขวงในเขตที่ซื้อสินค้าเพื่อขอให้เจ้าพนักงานศาลช่วยจัดการปัญหา
จนกระทั่งคดีเข้าสู่กระบวนการในชั้นไต่สวน ปรากฏว่าทางบริษัทฯที่เป็นคู่กรณีของเขาได้ขอเปิดการเจรจาไกล่เกลี่ยและยินยอมตามฟ้องทุกประการ โดยยินยอมจ่ายเงินคืนให้ผู้เสียหายจำนวน 900 บาท พร้อมค่าเสียเวลาอีกจำนวน20,000บาท
เรื่องที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ เขาระบุว่า “อยากให้รู้ว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคนั้นบัญญัติไว้สำหรับผู้บริโภค ไม่ต้องมีทนายความ ไม่ต้องหาหลักฐานของฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ มีเจ้าพนักงานศาลร่างคำฟ้องให้เรียบร้อย แถมหากต้องสืบพยานศาลถามให้ไม่ต้องรู้อะไรมาก แค่รู้ว่าเราเสียหายเสียเปรียบอย่างไร เป็นการคุ้มครองไม่ว่าเรื่องการซื้อขาย การให้บริการ สินค้าไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ส่งของไม่ครบ สินค้ามีปัญหากับเนื้อตัวร่างกาย เรียกว่าได้หมดแถมหน้าที่นำสืบตามที่เราฟ้องตกกับฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และค่าส่งหมายเลย”
ตอนท้ายผู้เสียหายรายนี้ได้กล่าวสรุปไว้น่าสนใจทีเดียว โดยระบุว่า คนไทยยังรู้เรื่องนี้น้อย แถมยังยอมเสียเปรียบอย่างไม่น่าเชื่ออีกจำนวนมาก หากเราโดนกระทำและเสียหาย การนิ่งเฉยคือการทำลายระบบ เพราะเราไม่ต่อต้านผู้ไม่สุจริต กลับสนับสนุนให้เขาเหิมเกริมกล้าปฏิบัติแย่ๆกับลูกค้าอีกนับจำนวนไม่ถ้วน
เป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่ประชาชนในฐานะผู้บริโภค รวมทั้งผู้ประกอบการผลิต และจำหน่ายสินค้าและบริการควรรู้ เพื่อให้การซื้อขายสินค้าและบริการเป็นไปอย่างมีคุณภาพและยุติธรรม
ข้อมูลจาก – http://www.news1live.com/