ต้องยอมรับความจริงว่า “รถยนต์” เป็นปัจจัยสำคัญที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเมือง ยิ่งการจราจรติดขัดมากเท่าไหร่รถยนต์ย่อมมีส่วนสำคัญต่อการเดินทางฉันใดก็ฉันนั้น แต่การจะครอบครองรถยนต์ป้ายแดงกับเขาสักคันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องในหลายประการโดยเฉพาะเรื่องเงินในกระเป๋า
“รถยนต์มือสอง” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภค ด้วยราคาที่ถูกกว่ารถป้ายแดงรวมถึงผู้บริโภคบางคนอาจจะมีรสนิยมชื่นชอบในความคลาสสิกของรถเก่า แต่การจะหารถที่ถูกใจ ถูกคุณภาพคุ้มราคาสมเหตุผลไม่ใช่เรื่องง่าย
ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการผู้บริโภคหรือสคบ. ได้รับการเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีปัญหาการซื้อรถจากเต็นท์รถยนต์มากที่สุด ทั้งเรื่องการนำรถไปจดทะเบียน ความยุ่งยากในการนำรถไปจดทะเบียนต่อ หรือรถที่นำไปใช้เกิดชำรุดผู้ประกอบการไม่รับแก้ไขและปัญหาเรื่องการตกแต่งตัวเลขระยะทางการใช้รถ ฯลฯ
Bee Voice มีข้อมูลจากสคบ.มาฝากถึงผู้บริโภคกันอีกแล้ว ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลากฉบับที่ 35 (พ.ศ. 2556) กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจขายรถยนต์ใช้แล้วเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2550 ด้วย
ซึ่งจากประกาศฉบับดังกล่าว ทางสคบ.ได้ให้คำแนะนำว่าผู้บริโภคที่คิดจะซื้อรถยนต์มือสองควรสังเกตข้อมูลในเรื่องของกรมธรรม์ประกันภัย การรับรองมาตรฐานสินค้า รวมถึงความรับผิดชอบในเรื่องของค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการโอน
เพราะส่วนใหญ่ผู้บริโภคมักจะถูกเอาเปรียบจากการที่ผู้ประกอบการผลักภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยผู้ประกอบการมักนำมาบวกในค่าธรรมเนียมการโอนและเขียนสัญญาให้รับผิดชอบกันคนละครึ่ง ซึ่งในทางกฎหมายไม่ได้มีการรับรองไว้แต่ผู้บริโภคมักหลวมตัวเซ็นสัญญาไปจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีผลในทางกฎหมายโดยตัวสัญญาซึ่งมีความคุ้มครองเฉพาะในหลายเรื่องที่แตกต่างกัน อีกทั้งก่อนการซื้อขายจะเกิดขึ้นผู้บริโภคควรขอร่างสัญญาซื้อขายจากผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อนำมาศึกษาล่วงหน้า 1-2 สัปดาห์หรือจะโทรขอคำปรึกษาสายด่วนสคบ. 1166 ก็ได้
นอกจากนี้ข้อมูลของสคบ.ยังระบุว่า ตามประกาศฉบับนี้ทางผู้ประกอบธุรกิจยังต้องจัดทำฉลากให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสาคัญของรถยนต์นั้น รวมถึงฉลากต้องเป็นภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศที่สามารถมองเห็นและอ่านได้อย่างชัดเจน
โดยระบุข้อความ เช่นชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้า ,ชื่อและสถานที่ประกอบการของผู้ขาย, ขนาดและน้ำหนัก ,สมุดคู่มือการบำรุงรักษารถ (ถ้ามี) ,รุ่นปี ราคาโดยระบุเป็นบาท, วันจดทะเบียน, เลขทะเบียน เลขตัวรถ ,เลขเครื่องยนต์, ยี่ห้อรถ, ยี่ห้อเครื่องยนต์, สี, ชนิดเชื้อเพลิง, ลำดับเจ้าของรถ, ภาระผูกพันของรถยนต์ที่มีอยู่ในวันจำหน่าย (ถ้ามี)
ยังมีข้อมูลการประสบภัยเช่น รถเคยประสบปัญหาจากการถูกชนหรือถูกน้ำท่วมมากก่อน สำหรับกรณีถูกน้ำท่วมต้องระบุระดับของน้ำที่ท่วมตัวรถยนต์ เช่นท่วมในระดับพื้น ระดับเบาะ หรือท่วมทั้งคัน และระยะทางของการใช้งาน ฯลฯ รวมถึงจัดทำหลักฐานการรับเงินส่งมอบให้กับผู้บริโภคด้วยตามที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจไม่ดำเนินการดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้นจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคจากกรณีดังกล่าวนี้ หลังจากสคบ.ได้รับการร้องเรียนแล้วในเบื้องต้นทางสคบ.จะตรวจสอบรายละเอียดและเรียกผู้ประกอบการมารับทราบในประเด็นการร้องเรียน พร้อมให้โอกาสแก้ต่างก่อนที่จะนัดคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจาไกล่เกลี่ย และตกลงหาข้อยุติพร้อมรับการเยียวยา
แต่กรณีที่รุนแรงกว่านั้นก็จะมีการตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ย ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ และหากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้สคบ.จะเป็นผู้ฟ้องแทนผู้บริโภคต่อศาลต่อไป