เมื่อคู่รักแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จะเกิดพันธะความผูกพันเป็นครอบครัว ที่จะต้องดูแลเลี้ยงดูกัน และจัดการทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน ตามกฎหมายปัจจุบันมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือ สินส่วนตัวและสินสมรส การจัดการทรัพย์สินสองประเภทนี้มีความแตกต่างกัน แล้วทรัพย์สินแบบใดบ้างที่เรียกว่าเป็น “สินส่วนตัว” หรือ “สินสมรส”
“สินส่วนตัว” ได้แก่
- ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
- ทรัพย์สินที่เป็น เครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือ เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ ของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
- ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา
- ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น
“สินสมรส” ได้แก่
- ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
- ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
- ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
การจัดการสินสมรส
หากสามีหรือภรรยาต้องการจัดการสินสมรสในกรณีด้านล่างนี้ ต้องได้รับการยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ไม่อย่างนั้นจะถูกอีกฝ่ายฟ้องร้องต่อศาลได้
-
- ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
- ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
- ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี
- ให้กู้ยืมเงิน
- ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือ ตามหน้าที่ธรรมจรรยา
- ประนีประนอมยอมความ
- มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
- นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
ในกรณีที่มีการหย่า สินสมรสจะถูกแบ่งส่วนเท่า ๆ กันระหว่างสามีและภรรยา เช่น อสังหาริมทรัพย์ เงินฝากในธนาคาร เงินสด หลักทรัพย์ รายได้หรือเงินเดือน หุ้น รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ และหนี้สิน